ทร.แจงจัดหาอาวุธปล่อยฮาร์พูนตั้งแต่ปี59 ราคาขึ้นซื้อ7ลูกได้แค่5
กองทัพเรือได้ชี้แจงข่าวกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์เห็นชอบแผนการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถี ฮาร์พูน บล็อค 2 อาร์จีเอ็ม 84 แอล ตามการร้องขอของรัฐบาลไทย โดยระบุว่าเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีชุดนี้ ซึ่งสื่อต่างประเทศตีข่าวว่าใช้งบประมาณราว 872 ล้านบาท ในทำนองไม่รู้มาก่อนว่ามีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ล็อตนี้
"เรามีเงินซื้อหรือไม่ จะเอาไปยิงกับใครหรือ จะให้ฝ่ายความมั่นคงไปดู อาจจะเป็นของเก่าที่เคยซื้อไปแล้วแต่ยังไม่ได้ของหรือเปล่า ขอให้ไปถามความชัดเจนจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม"
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง อ้างว่า ยังไม่มีการจัดซื้ออาวุธตามที่เป็นข่าว และอาวุธปล่อยของฮาร์พูนของเดิมก็มีใช้งานอยู่นานแล้ว
หลังจากที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกมาอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นกับการจัดซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีมูลค่าเกือบ 1 พันล้านบาท ทำให้ล่าสุดกองทัพเรือต้องออกมาชี้แจงที่มาที่ไปของเรื่องนีทั้งหมด
ข้อมูลจากเอกสารระบุว่า อาวุธปล่อย ฮาร์พูน บล็อค 2 อาร์จีเอ็ม 84แอล เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีแบบพื้นสู่พื้น ระยะยิงไกลสุด 124 กิโลเมตร หรือ 67 ไมล์ทะเล มีขีดความสามารถในการยิงสนับสนุนภารกิจต่อต้านเรือผิวน้ำและโจมตีเป้าหมายบนบก เช่น พื้นที่ติดตั้งอาวุธป้องกันฝั่ง, อาวุธต่อสู้อากาศยาน, อากาศยาน, พื้นที่อุตสาหกรรม, ท่าเรือ และเรือที่จอดทอดสมอในฐานทัพหรือท่าเรือ
โครงการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีชนิดนี้เป็นของกองทัพเรือ อยู่ในโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็น "อมภัณฑ์" สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ ซึ่งจะเข้าประจำการในปีงบประมาณ 2561
(คำว่า "อมภัณฑ์" หมายถึงส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนใดๆ ที่มีวัตถุระเบิดประกอบอยู่ด้วยในภาชนะที่เหมาะสม พร้อมที่จะใช้กับเครื่องยิง เครื่องทิ้ง เครื่องปล่อย เพื่อประหัตประหารกัน ไม่ว่าจะเป็นในทางรุกหรือในทางรับ หรือเพื่อใช้ในการฝึกหัดศึกษา)
สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีชุดนี้ถือเป็นอมภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีและคุณค่าทางยุทธการสูง จึงจำเป็นต้องจัดหาโดยวิธี FMS case หรือ Foreign Military Sales ผ่านทางรัฐบาลสหรัฐ
แผนการจัดหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ลูกจริง 2 ลูก หัวฝึก 1 หัว ผูกพันงบประมาณปี 2559-2561 จัดหาเรียบร้อยแล้ว กับ 2.ลูกจริง 7 ลูก ลูกฝึก 1 ลูก อยู่ระหว่างการจัดหา ผูกพันงบประมาณปี 2560 ถึง 2562 แต่จำนวนลูกจริงลดความต้องการลงจาก 7 ลูกเหลือ 5 ลูก มาจากการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น
แถลงการณ์ของสหรัฐในเรื่องนี้ เป็นการเห็นชอบแผนการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีในส่วนที่สองของไทย วงเงินทั้งสิ้น 827 ล้านบาทเศษ หรือราว 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงเห็นชอบแผนการจัดหาเบื้องต้น เป็นไปตามขั้นตจอนการจัดหาโดยวิธี FMS case ของฝ่ายสหรัฐ เนื่องจากการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีชุดนี้ เป็นยุทโธปกรณ์รายการหลักที่มีมูลค่าตามเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนด ภายหลังการออกแถลงการณ์ จะเป็นขั้นตอนการนำเข้าสู่สภาคองเกรส หากไม่มีข้อคัดค้านภายใน 30 วัน จะสามารถลงนามในเอกสารความตกลง หรือ LOA (Letter of Agreement) ได้ ส่วนการส่งมอบ จะดำเนินการภายใน 3 ปี
------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหาร รายการล่าความจริง เนชั่นทีวีช่อง 22 เอื้อเฟื้อข้อมูลข่าว
2 ภาพขีปนาวุธจาก เว็บไซต์ Military and Commercial Technology
https://thaimilitaryandasianregion.blogspot.com/2017/08/the-state-department-approved-possible.html