"สหรัฐ-คสช." การทูตแบบซื้ออาวุธแลกความชอบธรรม?
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในช่วงนี้ ถูกมองเชื่อมโยงไปถึงการเตรียมเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเจ้าตัวเพิ่งออกมาคอนเฟิร์มเองเมื่อวันอังคารที่ 8 ส.ค.ว่า มีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐในช่วงเดือน ต.ค.นี้แน่นอน
ข่าวประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์สายตรงถึงนายกฯประยุทธ์ และเชิญไปเยือนสหรัฐ มีมาตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. จากนั้นก็เริ่มมีข่าวการจัดซื้ออาวุธล็อตใหญ่จากสหรัฐออกมาเป็นระยะ เริ่มจาก "เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็คฮอว์ค" โดยเป็นการจัดซื้อเพิ่มเติมจำนวน 4 ลำ หลังจากสภาคองเกรสอนุมัติ ทั้งๆ ที่ในอดีตสหรัฐจะไม่ขายอาวุธให้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
จากนั้นก็มีข่าวบอร์ดการบินไทยอนุมัติในหลักการให้จัดซื้อเครื่องบินใหม่เพิ่มเติมจำนวน 28 ลำ จนมีการคาดการณ์กันว่าอาจมีการเจรจาขอซื้อเครื่องบินโบอิงจากสหรัฐในช่วงที่นายกฯประยุทธ์ เดินทางเยือน
และล่าสุดก็คือข่าวการจัดซื้อขีปนาวุธระบบฮาร์พูน ที่ติดตั้งบนเรือผิวน้ำ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท กองทัพมีแผนนำไปติดตั้งบน "เรือหลวงท่าจีน" เรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่ไทยว่าจ้างเกาหลีใต้สร้างในราคากว่า 14,000 ล้านบาท และเพิ่งทำพิธีนำเรือลงน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง
แม้ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจะออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องนี้ (ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 ส.ค.) ขณะที่แหล่งข่าวในกองทัพพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องเก่าแล้ว หมายถึงเป็นโครงการจัดซื้อที่ดำเนินมาเป็นขั้นตอนก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นก็คือ การที่สหรัฐมาอนุมัติในช่วงนี้ ก็น่าจะมีนัยให้ตีความได้ไม่น้อยเลย
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการที่สหรัฐร้องขอให้ไทยช่วยกดดันเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังมีปัญหาขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสหรัฐด้วย
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ไทยต้องการอาศัยการซื้ออาวุธเป็นเครื่องมือในการลดแรงกดดันจากสหรัฐ เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการขายอาวุธมาก ดังเช่นที่เห็นจากการเยือนตะวันออกกลาง เพราะผู้นำสหรัฐเชื่อว่าการขายอาวุธจะช่วยพยุงเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ใช้ในการหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์
รัฐบาลทหารจึงเชื่อว่าการหันไปซื้ออาวุธจากสหรัฐ หลังซื้อจากจีนแล้วเป็นจำนวนมาก จะเป็นปัจจัยช่วยลดแรงกดดันที่สหรัฐแต่เดิมไม่ยอมรับการรัฐประหารของไทย นโยบายเช่นนี้จะทำให้ คสช.ซื้ออาวุธเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้การรัฐประหารปี 2557 เป็นเพียงการยึดอำนาจเพื่อเปิดโอกาสให้กองทัพซื้ออาวุธได้อย่างไม่มีขีดจำกัด การซื้ออาวุธแบบไม่จำกัดเช่นนี้ขัดแย้งกันกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และจะยิ่งทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมากขึ้น
นอกจากนี้การซื้ออาวุธอาจจะช่วยให้สหรัฐลดแรงกดดันลง แต่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่ลบล้างไม่ได้ และผู้นำทหารไทยอาจจะต้องตระหนักว่า แม้แรงกดดันจากสหรัฐอาจจะลดลงในอนาคต แต่ก็มีสิ่งที่รัฐบาลจะต้องแลกเปลี่ยนในเชิงนโยบาย เหมือนเช่นที่เกิดกับความสัมพันธ์ไทย-จีนหลังรัฐประหารมาแล้ว คำถามคือ รัฐบาล คสช.จะต้องแลกด้วยอะไรในเชิงนโยบาย และการแลกนี้จะทำให้สถานะของรัฐบาลทหารไทยดีขึ้นได้จริงหรือไม่
การทูตแบบนี้ไม่มีความซับซ้อน เพราะเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในระดับชาติ ที่รัฐบาลทหารเชื่อว่าสามารถซื้อความชอบธรรมทางการเมืองได้ด้วยการซื้ออาวุธจากรัฐมหาอำนาจ หรือเป็นเพียงการเอาใจรัฐมหาอำนาจในแบบเก่าๆ เท่านั้นเอง
ในสภาวะเช่นนี้ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทยอาจจะกลายเป็นประเด็นย่อยสำหรับรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐในความสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากด้านหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐต้องการความสนับสนุนจากไทยในปัญหาเกาหลีเหนือ และยังต้องการดึงไทยให้กลับมาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ซึ่งไทยได้แสดงการตอบแทนด้วยการซื้ออาวุธ จึงอยากจะขอเรียกนโยบายชุดนี้ว่า "Procurement Diplomacy" หรือการทูตที่ขับเคลื่อนด้วยการ "ซื้ออาวุธ" ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เห็นได้ในความสัมพันธ์ไทย-จีน
ขบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไทยอาจจะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของการเมืองระหว่างประเทศที่ทิศทางนโยบายของสหรัฐแตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจึงหวังพึ่งพาความสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจไม่ได้ เพราะรัฐเหล่านั้นมักจะมีผลประโยชน์ของตัวเองเสมอ
บางทีเราอาจจะต้องยอมรับในความเป็นจริงขณะนี้ว่า นโยบายของสหรัฐในปัจจุบันแตกต่างจากรัฐบาลเดิมที่ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ได้รับการให้คุณค่ามากเท่าที่ควรอีกต่อไป เพราะแต่เดิมนั้น ด้วยกฎหมายของสหรัฐเอง รัฐบาลอเมริกาจะขายอาวุธให้แก่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่ได้ การขายอาวุธครั้งนี้กำลังให้คำตอบว่า นโยบายของสหรัฐต่อคุณค่าเดิมได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กำลังเป็นโอกาสให้รัฐบาลทหารสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองได้มากขึ้นในเวทีโลก
วันนี้จึงเหลือแต่เพียงคำนัดจากทำเนียบขาวว่า จะให้ผู้นำรัฐประหารไทยเดินทางเยือนวอชิงตันได้เมื่อไรเท่านั้นเอง
+++++++++++++++
รู้จักขีปนาวุธ "ฮาร์พูน บล็อคทูว์"
จากการตรวจสอบข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบว่า ขีปนาวุธในชุดของ "ฮาร์พูน" เป็นระบบขีปนาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น และอากาศสู่พื้น ใช้โจมตีเรือรบผิวน้ำในระยะขอบฟ้าทุกสภาพอากาศ พัฒนาและผลิตโดย "บริษัทแมคดอนเนลล์ดักลาส" ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโบอิง
สำหรับขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อคทูว์ รุ่น อาร์จีเอ็ม-84 แอล เป็นขีปนาวุธที่ใช้ติดตั้งบนเรือรบผิวน้ำ ซึ่งไทยเตรียมนำมาติดตั้งบน "เรือหลวงท่าจีน" เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำล่าสุด มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ที่ไทยสั่งเกาหลีใต้สร้างในมาตรฐานของสหรัฐ และเพิ่งมีพิธีนำลงน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวในกองทัพที่ระบุว่า การจัดซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน อยู่ในแพคเกจการสั่งต่อเรือหลวงท่าจีนอยู่แล้ว เพราะเรือหลวงท่าจีนเป็นเรือฟริเกต ต้องรบได้ทั้ง 3 มิติ คือรบกับอากาศยาน, รบกับเรือผิวน้ำ และปราบเรือดำน้ำ จึงต้องมีรายการจัดซื้อปืนใหญ่ เครื่องยิง และขีปนาวุธ ไปพร้อมๆ กันในสัญญา
------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 ขีปนาวุธนำวิถี ฮาร์พูน บล็อคทูว์ รุ่น อาร์จีเอ็ม-84 แอล
2 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ขอบคุณ : ภาพขีปนาวุธจาก เว็บไซต์ Military and Commercial Technology
https://thaimilitaryandasianregion.blogspot.com/2017/08/the-state-department-approved-possible.html