แรงใจสู่สังคมป่วยไข้...
ผมเพิ่งกลับจากนราธิวาสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มี.ค.) หลังจากไปร่วมเวทีสัมมนาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การไปเยือนชายแดนใต้หนนี้ ผมได้รับทราบข่าวดีหลายข่าวและขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
เรื่องแรก ในงานสัมมนาของ สกว.ที่ผมไปร่วม แม้จะมีการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 2547-2550 ซึ่งมีมากถึง 584 ชิ้น แล้วพบว่างานวิจัยเหล่านั้นส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไม่สงบน้อยมาก แต่ข่าวดีก็คือทาง สกว.ค้นพบว่า งานวิจัยประเภทที่เรียกว่า "การวิจัยเพื่อท้องถิ่น" หรือ Community Based Research (CBR) สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากจุดเล็กๆ ในสังคมระดับชุมชนได้ และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้นำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืนด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจจากการสรุปบทเรียนของ "การวิจัยเพื่อชุมชน" ก็คือ ชุมชนมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เอง, หลักและวิธีการทางศาสนธรรมมีคุณค่าสูงมากต่อการฟื้นฟูชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในสังคม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้มาก ขณะเดียวกันการฟื้นฟูฐานทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ป่าพรุ ประมงพื้นบ้าน เป็นการฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ "เศรษฐกิจท้องถิ่น" ยังเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ของชุมชน ฉะนั้นการพัฒนาและการกระตุ้นการพัฒนาจากภาครัฐจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว
การสัมมนาเที่ยวนี้มีผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมรับฟังด้วย ก็หวังว่าท่านที่มาจากองค์กรรับผิดชอบปัญหาภาคใต้เหล่านี้จะนำบทเรียนที่ค้นพบไปปรับจูนทิศทางการ "ดับไฟใต้" ให้ถูกทิศถูกทาง ถูกฝาถูกตัวกันต่อไป
เรื่องที่สอง ผมได้พบปะพูดคุยเป็นเวลาสั้นๆ กับท่านเลขาธิการ ศอ.บต. พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ทำให้ได้ทราบข่าวดีๆ อีกหลายข่าวจากท่าน นอกเหนือจากข่าวร้ายเรื่องความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านหูผ่านตาแทบทุกวัน
พันตำรวจเอกทวี เล่าว่า ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มค่าตอบแทนให้กับครูตาดีกา และการบริหารจัดการมัสยิดที่จัดการเรียนการสอนโรงเรียนตาดีกา ซึ่งล่าสุดขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ครม.ได้อนุมัติตามที่ ศอ.บต.เสนอเรียบร้อยแล้ว ลำดับถัดจากนี้ไป ศอ.บต.ได้เตรียมเสนอเพิ่ม "นิตยภัต" หรือเงินค่าอาหารที่ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับเป็นการดูแลผู้นำทางศาสนาทุกกลุ่มในพื้นที่อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ท่านเลขาฯศอ.บต.ยังมีโครงการจัดงาน "ดินเนอร์ทอล์ค" ในราวเดือนเมษายน โดยเชิญนักธุรกิจ นักลงทุนมาร่วมรับฟัง "โอกาส" ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในห้วงที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น "ประชาคมอาเซียน" และได้เชิญ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มาปาฐกถาพิเศษ
ในการนี้ ท่านเลขาฯศอ.บต.มีแผนเชิญนักการเมืองจากทุกพรรคการเมืองในพื้นที่มาร่วมรับฟังและกำหนดทิศทางการก้าวไปข้างหน้าของจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันด้วย เพื่อยืนยันว่า "พื้นที่นี้ไม่มีการเมือง"
หากงานนี้สำเร็จได้จริงตามแผน ก็ต้องบอกว่าเป็น "ข่าวดี" ในรอบปีของสถานการณ์ภาคใต้เลยทีเดียว
เรื่องที่สาม หลายคนคงจำได้กับงานเขียนเชิงสารคดีที่ชื่อ "แรงใจเพียงน้อยนิดกับชีวิตที่เหลืออยู่ของ สารวัตรหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ" ที่นำเสนอบนหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา
สารคดีชิ้นนี้มีคนสนใจคลิกอ่านอย่างล้นหลาม หลังจากนั้น "แรงใจ" และ "ความช่วยเหลือ" ก็หลั่งไหลสู่ชายแดนใต้ ไปเคาะประตูบ้านของสารวัตรหญิงกูมัณฑนา หรือ "ปู" ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดจากเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดถล่มบริเวณลานหน้า สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2553 ทำให้ตำรวจหญิงผู้สดใสร่าเริงต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพ แม้กระทั่งพูดจาสื่อสารก็ยังทำไม่ได้
หนึ่งในผู้ใจบุญคือ คุณคันธรส ธรธรรมทิศ และกลุ่มเพื่อนซี้ ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 22,500 บาท ฝากให้ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวอิศรานำไปมอบให้กับสามีของสารวัตรปู ซึ่งผู้สื่อข่าวของเราก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนไปมอบให้ถึงบ้านที่ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
คุณยูโซบ ดอเลาะ สามีของสารวัตรปู เผยความรู้สึกฝากมาว่า ดีใจมากที่มีคนเห็นใจคนที่เดือดร้อนอย่างเขา แต่จริงๆ แล้วก็เข้าใจว่าไม่มีใครสามารถดูแลใครได้ตลอด แต่ละคนแต่ละครอบครัวต้องช่วยเหลือตัวเอง ทุกเรื่องเป็นเหมือนชะตาที่กำหนดมาแล้ว แต่ก็รู้สึกดีใจและซาบซึ้งใจมาก ตั้งใจว่าจะนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อเบาะที่นอนใหม่ให้กับภรรยา เพราะตอนนี้เบาะที่นอนอยู่พังหมดแล้ว และเงินอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปเป็นค่าอาหารและข้าวของเครื่องใช้...
ในฐานะที่ผมเกาะติดข่าวภาคใต้มานานหลายปี ยอมรับว่าข่าวสารที่ถูกรายงานผ่านหน้าสื่อส่วนมากมีแต่ข่าวร้าย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อที่ชายแดนใต้ก็ไม่ได้ส่งผลแค่การมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหมื่นเท่านั้น ทว่าคนที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป หรือต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์เพื่อดูแลผู้ทุพพลภาพยิ่งมีมากกว่า ทำให้สภาพสังคมที่ชายแดนใต้ไม่ต่างอะไรกับคนป่วยไข้ เต็มไปด้วยความทุกข์ระทมและหวาดระแวง
ได้แต่หวังว่าเรื่องราวดีๆ เหล่านี้จะเป็น "แรงใจ" บรรเทาความป่วยไข้ของสังคม และเป็นพลังดลใจให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงทุกกลุ่มหยุดใช้ความรุนแรงเสียที...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวอิศรานำเงินช่วยเหลือจากผู้ใจบุญไปมอบให้กับสามีของสารวัตรปู
หมายเหตุ : ภาพประกอบผ่านการตกแต่งเพื่อรักษาสิทธิผู้ป่วย โดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
อ่านประกอบ : แรงใจเพียงน้อยนิดกับชีวิตที่เหลืออยู่ของ...สารวัตรหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/5629--q-q-.html