มุม "นมแม่" ต้นแบบ ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ปั๊มจริง เก็บข้อมูลจริง พนง.ประหยัดปีละกว่า 3 แสน
บมจ. ไทยซัมมิท ฮาร์เนส แสดงข้อมูลปี 2559 พนักงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประหยัดเงินซื้อนมผง ได้กว่า 3.3 แสนบาท พบ 5 ปีประหยัดได้เกือบ 1 ล้านบาท พิสูจน์ชัด องค์กรมีแต่ได้กับได้ ประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้ลดลง แถมพนักงานยังผูกพันกับองค์กร
ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี มีพนักงานทำงานในโรงงานเกือบ 3 พันคน โดยมีพนักงานซึ่งเป็นผู้หญิงคิดเป็น 83% หรือเกือบ 2 พันคน
ในจำนวนพนักงานหญิง พบว่า มีการตั้งครรภ์ตกเดือนละประมาณ 100 -200 คน
“ตัวเลขดูเยอะมากแต่เป็นภาพปกติของโรงงานที่มีสุภาพสตรีทำงาน มีพนักงานคลอดลูกและต้องเก็บนม" พยัพ แจ้งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักพัฒนาองค์กร บมจ. ไทยซัมมิท ฮาร์เนส เล่าว่า สมัยปี 2552 กระแสการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังไม่แรง ยังน้อยอยู่ ได้เห็นพนักงานคนหนึ่งเข้าไปเก็บน้ำนม เดินสวนกัน
"ผมเพิ่งเคยเห็นน้ำนมของคน ก็ที่โรงงานนี้ เขาถือออกมาเป็นถุงๆ ด้วยความสงสัยอะไรเหลืองๆ ก็เดินไปถาม นี่คือจุดเริ่มต้น นายสาโรจน์ วสุวาริช รองประธานธรรมการบริหาร และผม ซึ่งเป็นผู้ชาย ก็ไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้เลย ก็กลับมาคิดเราเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทำไมไม่ดูแลพนักงาน ทั้งๆ ที่เรามีสวัสดิการดีหมด แต่ทำไมเราขาดการดูแลตรงจุดนี้ และเราไม่เคยใส่ใจกับเรื่องพวกนี้ จึงไปหาข้อมูล และมาเปิด "ห้องนมแม่" โดยใช้งบประมาณแสนกว่าบาท พร้อมหาข้อมูลทำเว็บไซต์ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเก็บน้ำนมพร้อมให้พนักงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้กระทั่งถุงเก็บน้ำนมเราก็มีให้ฟรี”
เขายังเล่าอีกว่า หลังจากเปิดห้องนมแม่ ก็แทบทิ้งร้าง ห้องนมแม่อยู่เฉยๆ อย่างนั้น 2 ปี จนมาปี 2554 พนักงานหญิงเดินมาถาม ว่า ห้องนมแม่ คือ อะไร
นี่คืออีกจุดเปลี่ยน เราตั้งห้องนมแม่มา 2 ปี แต่พนักงานไม่รู้ว่า คืออะไร เพราะไม่ได้มีการรณรงค์ส่งเสริม
จากนั้นเขาให้พนักงาน 4 คน ไปเรียนรู้และทำประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร
“เราใช้เวลาอีก 2 ปีเต็มๆ ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานหญิงที่คลอดบุตร ที่ให้เขาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เขาเห็นว่า ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก ผมให้พยาบาลมาอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมที่ทำงานตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 7-8 เดือน
นอกจากนี้บริษัทออกนโยบายถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกออกนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และอาศัยบริษัทนมผงสำเร็จรูปเข้ามาให้ความรู้ เป็นเวลาหลายปีมาก และมามีคำสั่งครั้งที่ 2 “ระงับ” ไม่อนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตนมผงสำเร็จรูป หรือตัวแทนจำหน่ายเข้ามาประชาสัมพันธ์ฝึกอบรมจำหน่ายจ่ายแจก ผลิตภัณฑ์ภายในบริษัท
"สิ่งที่เรารู้มา คนละเรื่องกับที่บริษัทนมผงถ่ายทอด เขาไม่มีความเข้าใจเรื่องนมแม่เลย”
ไทยซัมมิท ฮาร์เนส องค์กรต้นๆ ที่ส่งเสริมพนักงานหญิงให้นมแม่ 100% ในทางปฏิบัติ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักพัฒนาองค์กร บมจ. ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ชี้ว่า ทำได้แค่ 25% เพราะเจออุปสรรค จึงเป็นที่มาของการเข้าไปเก็บสถิติพนักงานตั้งครรภ์และติดตามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จนกระทั่งแม่กลับมาทำงานกับเรา
สำหรับแม่ที่คลอดบุตร ทางบริษัทฯ จะมีทีมงานโทรติดตาม โทรให้กำลังใจ สอบถามสุขภาพแม่และเด็ก เอาลูกเข้าเต้าหรือไม่ ลูกดูดนมได้ไหม น้ำนมไหลหรือไม่ วิธีการเก็บนมลืมไปหรือยัง และเมื่อกลับมาทำงานจะมีทีมงานเข้าประกบเข้าห้องนมแม่ ฝึกสอนวิธีการเก็บน้ำนม วิธีการเก็บนมส่งกลับบ้านต่างจังหวัด มีการแยกการทำงานไปในส่วนที่มีความปลอดภัย เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับพนักงาน เขาบอกว่า วันนี้ยังไม่ยืนยันว่า สิ่งที่ทำมาประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ได้เห็นพัฒนาการที่ดีมากของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ห้องนมแม่มีคนมาใช้มากขึ้น จนต้องขยับขยายมุมนมแม่ เพิ่มตู้แช่ จาก 1 ตู้ เป็น 2 ตู้ และปัจจุบันมีถึง 3 ตู้แล้ว มีพนักงานของเราเริ่มส่งน้ำนมกลับบ้านต่างจังหวัดกันมากขึ้น
“พนักงานหญิงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ 4,500 บาทต่อเดือน ขณะที่ผลดีทางอ้อม พนักงานมีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ไม่ลาออก ไม่หยุดบ่อย เพราะลูกเขาไม่ป่วย แตกต่างจากการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ได้ชัด วันนี้องค์กรไม่ได้เสียอะไรเลย ประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้ลดลง คุณภาพไม่ได้น้อยลง เรากำไรทุกปี สิ่งที่สำคัญพนักงานผูกพันกันและกัน การที่เพื่อนคนหนึ่งจะพักไปเก็บน้ำนม ตำแหน่งงานจะว่าง เพื่อนร่วมงานจะเสริมให้งานเดินไปได้”
“พยัพ แจ้งสวัสดิ์” ยังเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงแรกๆ ตอนออกนโยบาย หัวหน้างานเริ่มมีปัญหากับลูกน้องที่ออกไปเก็บน้ำนมในช่วงเวลางาน แต่เมื่อเป็นนโยบายองค์กร เราบอกว่า ให้อิสระพนักงานจะออกมาเก็บน้ำนมตอนไหนก็ได้ หัวหน้างานต้องปรับทัศนคติ สุดท้ายก็มีการเรียกคุย นี่คือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายก็เข้ารูปเข้ารอย งานไม่เสีย พนักงานช่วยเหลือกัน ใครไปก็บอกกัน โดยเฉลี่ยแต่ละคนมีช่วงเวลาเข้าไปเก็บน้ำนมครั้งละ 20 นาที
ส่วนการเก็บสถิติพนักงานที่มาใช้บริการห้องนมแม่ ของบริษัทแห่งนี้ ได้มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
- มีการสรุปสถิติจำนวนพนักงานลาคลอดบุตร และจำนวนพนักงานที่มาใช้บริการห้องนมแม่
- จำนวนครั้งของพนักงานที่มาปั๊มนมแม่ เปรียบเทียบปี 2554-2559
- ปริมาณน้ำนมที่พนักงานปั๊มได้ปี 2556-2559 และปริมาณน้ำนมในแต่ละเดือน (ออนซ์)
- สรุปสถิติจำนวนพนักงานที่ส่งนมกลับต่างจังหวัดให้บุตร วิธีการส่งนม จังหวัดที่พนักงานส่งนมให้ลูก
การเก็บข้อมูลยังรวมไปถึงสาเหตุที่พนักงานที่ลาคลอดแต่ละปี ไม่ให้นมแม่ เพื่อหาสาเหตุเป็นเพราะอะไร โดยพบว่า 5 อันแรกสาเหตุที่ไม่ให้นมแม่ พบมากสุด
- 32% บอกว่า ไม่ค่อยมีน้ำนม น้ำนมน้อย
- 19.31% ระบุ น้ำนมค่อยๆ แห้งไปก่อนจะมาเริ่มทำงาน
- 17.93% บ้านอยู่ไกล บขส./รถไม่ถึงตัวอำเภอ
- 11.72% ไม่มีคนมารับนมปลายทาง
และ 3.45% บอกว่า คุณแม่ป่วย ทานยาต่อเนื่อง
ข้อมูลที่น่าสนใจที่ บมจ. ไทยซัมมิท ฮาร์เนส เก็บข้อมูลในปี 2559 ในส่วนของพนักงานที่ซื้อนมผง เทียบกับน้ำนมที่พนักงานปั๊มนมได้ทั้งหมดในปี 2559 พบว่า พนักงานที่มาปั๊มนมในห้องนมแม่ทั้งหมดสามารถประหยัดเงินซื้อนมผงได้ทั้งสิ้นกว่า 3.3 แสนบาท อีกทั้ง มีการสรุปการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงของพนักงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า รวมแล้วประหยัดได้เกือบ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว
และเมื่อถามถึงการต่อยอดสู่การตั้งศูนย์เด็กเล็กภายในโรงงาน เขาทิ้งท้ายโดยมองเห็นว่า สภาพแวดล้อมนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่เหมาะกับการตั้งศูนย์เด็กเล็ก
ด้านนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยคนแรก ให้ข้อมูลเสริมถึงสถานประกอบการกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยยกกรณีผู้ผลิตเครื่องประดับชวาลอฟสกี้ มีการทำไล่ๆ กับบมจ. ไทยซัมมิท ฮาร์เนส มีงานวิจัยพบว่า คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลาน้อยลง ป่วยน้อยลง บริษัทได้พนักงานหญิงที่มีสมาธิทำงาน
"บริษัทได้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น คุณแม่เสียเงินค่านมน้อยลง นี่คือวิน-วิน การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แม้กระทั่งสถานประกอบกิจการหากมีการอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิชาการชี้ทารก - 6 เดือน ดื่มนมแม่ล้วนๆ แค่ 23% ยันโฆษณานมผงมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ