3 กองทุนเคาะ ทุก รพ.ห้ามปฏิเสธผู้ัป่วยฉุกเฉิน ไม่ต้องสำรองจ่าย
นายกฯชี้ไม่รวม 3 กองทุนสุขภาพ แต่ลดเหลื่อมล้ำบริการพื้นฐานจำเป็น ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุก รพ.โดยไม่ถามสิทธิ์ ไม่สำรองจ่าย รักษาได้ยาวจนทุเลา
วันที่ 13มี.ค.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเชิงนโยบาย “การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ” (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีข้อตกลงร่วมกันเรื่องสิทธิประโยชน์หลักที่จะครอบคลุมการรักษาทุกโรคที่จำเป็น และการได้รับสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยอยู่บนหลักการของแต่ละกองทุน และขอเน้นย้ำวัตถุประสงค์ว่าต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน ซึ่งสิ่งสำคัญคือสามารถรักษาพยาบาลประชาชนกรณีเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยทั้ง 3 กองทุนมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันในการรักษาพยายบาลไม่ให้หลื่อมล้ำ
นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ 1.ความพร้อมการบูรณาการดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉินภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนฯ โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 2.มาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว 3.มาตรการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค
สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีให้ทั้ง 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ แก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุนเพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่ 8 มี.ค.55
โดยในการให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน จะดูแลจนกว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา โดย สปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ และได้จัดเตรียมสายด่วน 1330 พร้อมให้บริการให้ข้อมูลประชาชน 24 ชั่วโมง ซึ่งการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกสายด่วนกู้ชีพ 1669 มาร่วมบริการด้วย
ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายาและการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยใช้ชื่อสามัญทางยา
สำหรับนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมบูรณาการร่วมเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยง และลดการเจ็บป่วย ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการรักษาใน 5 เรื่องสำคัญเบื้องต้น ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2.พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด 3.พัฒนาระบบให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน
4.พัฒนาระบบให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งข้อมูลปี 2551 พบว่าประชาชนวัย 15-59 ปี เข้าข่ายความผิดปกติจากการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน จำนวนนี้มีปัญหาติดสุราอย่างน้อย 3 ล้านคน 5.การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 4.5- 5 แสนคน สาเหตุการตายอันดับ 1 คือมะเร็ง รองลงมาคืออุบัติเหตุ โรคหัวใจ โดยการตายที่โรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2548 และพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,763 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก 3 เดือนก่อนตาย และ 15,767 บาทสำหรับผู้ป่วยใน 6 เดือนก่อนตาย ขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคทั่วไปเฉลี่ย 64,106 บาทต่อคนต่อปี แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,780 บาทต่อคนต่อปี====ส่วนของการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สสส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คือ ระหว่าง 0-6 ปี .
ที่มาภาพ : http://www.medicthai.com/admin/news_detail.php?id=4521