‘วิษณุ’ เผยสูตรยกเครื่อง กม. ปลดล๊อคเอกชนรับยุค 4.0 คลอดรายชื่อ คกก.ปฏิรูปปท. 11 คณะ
ดร.วิษณุ เเจงเเนวทางปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดล๊อคเอกชนไทยอยู่รอด รองรับไทยเเลนด์ 4.0 ย้ำสูตร PPP ต้องชัดเจน สร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน เผย 15 ส.ค. 60 ครม.เตรียมเห็นชอบ คกก.ปฏิรูปประเทศ 11 คณะ หลังรอมานาน ด้านกอบศักดิ์ ภูตระกูล คลอดเงื่อนเวลาพิจารณาปรับปรุงยกเลิกกม. ต้องเอื้อให้ทันโลก ก้าวสู่ระบบ Big DATA -ปัญญาผลิต -การเงินไร้พรมแดน
วันที่ 10 ส.ค. 2560 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดโครงการสัมมนาแนวทางการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับ Thailand 4.0 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง แนวทางการปฏิรูปกฎหมาย
ดร.วิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันที่ 15 ส.ค. นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ที่เคยพูดถึงกันมานานเสียที ทั้งนี้ การปฏิรูปกฎหมายต้องวางหลักเกณฑ์ในด้านวัตถุประสงค์ กระบวนการ และเกี่ยวข้องกับสาธารณะ (Purpose Process Public:PPP) ให้ชัดเจน
โดยวัตถุประสงค์นั้น (Purpose) ต้องกำหนดว่า เปลี่ยนแปลงไปทำไม ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปจะล้มเหลว ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายในครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ, พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560, ไทยแลนด์ 4.0 และให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หากตั้งวัตถุประสงค์แน่วแน่ จะสามารถเดินต่อไปได้ ไม่ต้องหวอกแหวกว่า ปฏิรูปกฎหมายไปเพื่ออะไร
ส่วนกระบวนการ (Process) รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปกฎหมายไม่มีวันทำเสร็จภายใน 3 วัน 7 วัน และจะทุบโต๊ะสั่งไม่ได้ ต้องอาศัยการหว่านล้อม ชักจูง จะใช้มาตรา 44 เมื่อพ้นอำนาจไป ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ฉะนั้นต้องให้ซึมอยู่ในสายโลหิต ทำให้รู้สึกว่าเป็นกิจวัตร เหมือนที่รัชกาลที่ 5 ใช้เวลาถึง 42 ปี เลิกทาส กระบวนการจึงต้องชัดเจนเช่นกัน
ส่วนจะปฏิรูปกฎหมายฉบับใดก่อนหลังนั้น ต้องเข้าใจบริบทว่า ประเทศไทยมีกฎหมายมากกว่า 1 แสนฉบับ เฉพาะเกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ประมาณ 5 พันฉบับ พ.ร.บ.หลายฉบับดี แต่ที่แย่คือกฎกระทรวง จึงต้องเริ่มต้นสำรวจจะทำอะไร อย่างไรก็ตาม 10-20 ปีที่ผ่านมา ไทยมุ่งเน้นปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งปฏิรูปไปเยอะแล้ว แต่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญภาคเอกชน
“เมื่อใดยุ่งเกี่ยวกับภาคเอกชน จะถูกกล่าวหาว่า เอื้อธุรกิจ แทรกแซงธุรกิจ มีผลประโยชน์กับธุรกิจ สรุปว่าอย่าไปยุ่งกันเลย โดยสมัยก่อนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี จะไม่กล้าเชิญภาคเอกชนไปต่างประเทศ เพราะจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ จนระยะหลังภาคเอกชนโวย เพราะหากภาคเอกชนตาย รัฐจะตาย เก็บภาษีไม่ได้ และคนตกงาน” ดร.วิษณุ กล่าว และว่า จึงต้องปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนไทย เบื้องต้นจัดตั้งศูนย์วันสต้อปเซอร์วิสอำนวยความสะดวกในการติดต่อหน่วยงานรัฐ 1 จุด ครอบคลุม 1 กระทรวง จะช่วยทุ่นกับการที่ภาคเอกชนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ และอนาคตจะพัฒนาให้ 1 จุด ครอบคลุม 20 กระทรวง ให้ได้ เพราะหลายประเทศทำสำเร็จแล้ว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สุดท้ายเกี่ยวข้องกับสาธารณะ (Public) ซึ่งการปฏิรูปจะไม่สำเร็จ หากขาดการรับรู้ การความเข้าใจ ความร่วมมือ และการยอมรับ เพราะการปฏิรูปทุกชนิดย่อมสวนทางกับความเคยชิน โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญอย่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะผู้ดูแลรักษากฎหมาย จะไม่มีวันยอมได้ง่าย ๆ ทำให้การปฏิรูปเดินต่อยาก
“การปฏิรูปกฎหมาย จึงต้องอาศัยส่วนราชการเจ้าของกฎหมาย ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และประชาชน จำเป็นต้องสร้างความรับรู้และเข้าใจให้ทั้ง 3 กลุ่มนี้ให้ได้ จึงต้องใช้เวลา และเลือกทำ หากเราเลือกทำเฉพาะกฎหมายธุรกิจ เศรษฐกิจ ลงทุน การค้า จะช่วยลดศัตรูลงไป ต้องคิดอย่างมีอุบาย และแผนการ โดยใช้ PPP เพื่อให้สำเร็จ” ดร.วิษณุ กล่าวในที่สุด
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานอนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน กล่าวว่า กฎหมายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำมาหากิน ซึ่งการปฏิรูปประเทศตั้งความหวังใน 3 ปีที่ผ่านมา จะไม่สำเร็จสมบูรณ์ และก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 หากไม่สะสางอย่างจริงจัง โดยลดขั้นตอน การปฏิบัติซ้ำซ้อน ลดใบอนุญาตไม่จำเป็น หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค
ทั้งนี้ การพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคมีแผนดำเนินการ 12 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ใช้เวลาในการทำงาน 4 เดือน (ก.ค.-ต.ค. 2560 ) ในการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งอ้างอิงจากรายงานสภาพแวดล้อม สำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Ease of Doing Business) ที่จัดทำโดยธนาคารโลก โดยพิจารณากฎหมายในระดับ พ.ร.บ.และกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ
ระยะที่ 2 ใช้เวลาในการทำงาน 8 เดือน (พ.ย. 2560- มิ.ย. 2561) ในการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้มีใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน
“กฎหมายของไทยปัจจุบันไม่รองรับการพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบดิจิทัล ระบบ Big DATA ระบบปัญญาผลิต ระบบการเงินไร้พรมแดน ซึ่งกฎหมายที่ไม่ทันสมัยทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของทุกคนให้ทันโลก” ประธานอนุกรรมการพิจารณาฯ กล่าว .
ภาพประกอบ:ไทยพับลิก้า