ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์:ยุคโกลาหล “สื่อ” นายทุนกุมขมับ “อยู่รอด” ต้องผลิตซุปเปอร์คอนเทนต์
“สื่อที่อยู่ได้ คือ ต้องมีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูงมาก ๆ จึงจะอยู่รอดได้ เรียกว่า ต้องมีเฉพาะซุปเปอร์คอนเทนต์จริง ๆ”
วันที่ 9 ส.ค. 2560 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์ สังคมไทย ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ ‘นิเวศสื่อ’ ว่า ประเทศไทยกำลังเกิดแผ่นดินไหวเกี่ยวกับนิเวศสื่อจาก 2 จุดศูนย์กลาง
-จุดศูนย์กลางแรก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่มีการควบคุมด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้สิทธิเสรีภาพลดลง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะกลับคืนสู่ความสงบ
-จุดศูนย์กลางที่สอง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะสั่นไหวต่อเนื่องอีกสักพักหนึ่ง
ทั้งนี้ ได้หยิบยกข้อมูลบริษัทธุรกิจสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ไม่รวมธุรกิจการพิมพ์และเกม) มาแสดง โดยพบว่า รายได้ของธุรกิจสื่อจากเคยอยู่ในระดับ 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2005 และเติบโตสูงสุดในปี 2012 ขณะนี้กำลังดิ่งลง
ขณะที่ด้านผลประกอบการของธุรกิจสื่อไทยมีกำไรสุทธิ จากเดิมปีละ 2 พันล้านบาท และเติบโตสูงสุด 1 หมื่นล้านบาท กำลังเข้าสู่ขาลง และลงเร็วมาก กระทั่งปีล่าสุด 2016 พบว่า ภาพรวมธุรกิจสื่อขาดทุนเป็นครั้งแรก แม้ยังไม่เยอะมาก แต่ที่น่าห่วง คือ หลังจากนี้จะยังคงขาดทุนต่อไป
เมื่อศึกษาเฉพาะกิจการโทรทัศน์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปี 2013 มีผลประกอบการดีที่สุด หลังจากนั้นดิ่งลงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 เคยมีกำไร 6 พันล้านบาท/ปี เหลือเพียง 1 พันล้านบาท/ปี ขณะที่ MCOT, อาร์เอส, อมรินทร์, เนชั่น และแกรมมี่ ต่างขาดทุน ยกเว้นเวิร์คพ้อยท์เท่านั้นยังมีกำไรมาก
เช่นเดียวกับผลประกอบการธุรกิจหนังสือพิมพ์และหนังสือดิ่งลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมติชน เครือโพสต์ ซีเอ็ด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า แผ่นดินไหวด้านการเงิน
แล้วเม็ดเงินโฆษณาไปอยู่ที่ใด ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เม็ดเงินเหล่านี้ไปอยู่กับป้ายโฆษณาต่าง ๆ และธุรกิจออนไลน์ ตัวสำคัญที่กวาดรายได้ คือ สื่อออนไลน์ในต่างประเทศ
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทำให้เข้าสู่ ยุคโกลาหล ซึ่งธุรกิจสื่อทุกค่ายกุมขมับกันหมด
ขณะที่ในต่างประเทศยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด แต่เห็นแล้วว่า ใครเป็นผู้ชนะในโลก ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เฟซบุ๊ก และกูเกิ้ล กวาดรายได้โฆษณาออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนดิสนีย์อยู่รอดได้ เพราะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ จากเดิมมุ่งทำภาพยนตร์จำนวนมากให้ลดน้อยลง แต่เน้นภาพยนตร์ที่ทำกำไรจริง ๆ หรือหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เน้นขายออนไลน์เป็นหลัก
“สื่อที่อยู่ได้ คือ ต้องมีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูงมาก ๆ จึงจะอยู่รอดได้ เรียกว่า ต้องมีเฉพาะซุปเปอร์คอนเทนต์จริง ๆ”
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากมองระบบสื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีสื่อไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น เหมือนมีมลพิษอยู่มาก เช่น โฆษณาเท็จ ผลิตสาระไม่จริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีข่าวปลอม บางข่าวจงใจเขียนขึ้นมาเพราะขายได้
อีกทั้งระบบสื่อของไทยมีสื่อสร้างสรรค์น้อยลง เพราะรายได้ไปกระจุกกับสื่อไม่กี่ราย ทำให้ขาดรายการที่มีคุณภาพ ขาดข่าวแนวสืบสวน และอนาคตเชื่อว่าจะลดน้อยลงอีก เนื่องจากการทำข่าวลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหรือถูกตัดโฆษณา
รวมถึงเกิดสื่อแยกย่อย โดยสื่อที่เข้าสู่ออนไลน์ จะมีวิธีการคัดเลือกสารให้ตรงกับรสนิยมของผู้เสพ หากมองในเรื่องเศรษฐกิจไม่มีปัญหา เพราะสามารถเลือกเสพรายการที่สนใจได้มากที่สุด ถือเป็นทางเลือกของผู้บริโภค แต่เมื่อมองด้านการเมือง/สังคม ปรากฎว่า ผู้เสพจะได้เฉพาะข้อมูลที่หนุนความเชื่อของตัวเอง ทำให้สังคมเกิดการแบ่งขั้วและขาดจิตสำนึกร่วม
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงทางออกว่า เมื่อมีสื่อไม่ปลอดภัยมาก ต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ควรให้สื่อกำกับดูแลกันเองมากขึ้น หากทำไม่สำเร็จ จึงค่อยให้เกิดการกำกับร่วม และหากทำไม่สำเร็จอีก จึงค่อยให้เกิดการกำกับดูแลโดยรัฐ แต่ปรากฎว่าไทยกำลังทำกลับกัน
ส่วนสื่อสร้างสรรค์ที่มีน้อย เพราะเม็ดเงินลงทุนในการทำสื่อที่มีเนื้อหาดีกำลังจะหายไป ส่วนหนึ่งหายไปอยู่บนออนไลน์ เพราะฉะนั้นกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และองค์กรสื่อสาธารณะ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมสื่อจึงมีประโยชน์มากในการผลิตเนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพสูง
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้สื่อที่ผลิตเนื้อหาดีมีผู้เสพมาก มิฉะนั้นจะไม่แก้โจทย์ที่มีสื่อดี เพราะการมีสื่อดี แต่ไม่มีผู้เสพก็เหมือนไม่มี และจะส่งผลต่อความชอบธรรมในองค์กรเหล่านั้นด้วย หากฐานผู้เสพลดน้อยลง
สุดท้ายสื่อแยกย่อย จะต้องมีสื่อที่มีคุณภาพสูงคอยทำหน้าที่เสนอความเห็นอย่างรอบด้านให้คน ในฐานะพลเมืองได้รับความเห็นแตกต่างกัน แต่ต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพสูง และได้รับความนิยม จึงจะสร้างเอกภาพและลดความแตกแยกได้ .
ภาพประกอบ:นิตยสารสารคดี