ภาคเอกชนชี้ศก.ไทยยังไม่ฟื้น กลุ่มเกษตรกรน่าห่วงที่สุด แนะดึงนวัตกรรมเสริม
เอกชนมองเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะภาคเกษตรน่าห่วง ด้านบรรยง มองไทยแข็งนอกอ่อนใน ต้องพึ่งคนอื่น ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างกว้างขึ้น รมว.วิทย์ฯ แนะให้พัฒนางานวิจัย นำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มรายได้
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.60 สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ “ถอดสูท ถกเศรษฐกิจ” ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา(จามจุรี10) จุฬาฯ โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ทิศทางเศรษฐกิจไทย ในครึ่งปีหลัง 2560”
นางอรรชกา กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่ ดังนั้นการทำงานแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ เรื่องเทคโนโลยี เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ในการเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะในภาคเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ พบว่าปัจจุบันคนเหล่านี้มีอายุมาก คนอายุ 60 ขึ้นไปยังคงทำนาเหมือนเดิม ฉะนั้นประสิทธิภาพในการผลิตของเกษตรยังเท่าเดิม ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีไปช่วย ในการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง
“ภาคเกษตรไม่มีทางโต รวมถึงกลุ่มภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีจำนวนมากทำอย่างไร ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นำวิทยาศาสตร์นวัตกรรมเข้ามาใช้ วันนี้เรามีเครื่องไม้ เครื่องมือใหม่ๆ เยอะมาก แต่เรามีปัญหาในการนำนวัตกรรมาใช้” นางอรรชกา กล่าว และว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการยื่นโครงการวิจัยราวหมื่นโครงการ คิดเป็นเงิน 2พันล้านบาท คำถามคือ โครงการวิจัยเหล่านั้นทำแล้วไม่สนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ถ้างานวิจัยเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่สามารถเอาไปใช้ได้จริง การต่อยอดพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ไม่สนใจทำวิจัยทำให้เรายังคงผลิตอะไรเดิมๆ ขายแบบเดิม
นางอรรชกา กล่าวอีกว่า ทิศทางในช่วงสามสี่ปีหลังนี้ ภาคธุรกิจเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น จากข้อมูลล่าสุดพบว่า งบวิจัยในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 70% สูงกว่าโครงการวิจัยจากภาครัฐที่มีเพียง 30% เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราเริ่มเห็นทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไป เอกชนเริ่มเป็นผู้นำทำวิจัย อย่าง กรณีของ SCG รายได้ของ 40-50% มาจากความพยายามสร้างนวัตกรรม วิจัยใหม่ๆ แล้วต่อยอดเป็นสินค้าเพิ่มรายได้ การที่เอานวัตกรรมมาใช้ หลายๆ ฝ่ายช่วยกัน อย่างเช่นเรื่องของโอท็อป ต้องเปลี่ยนแนวคิด เอางานวิจัยไปช่วยชาติ สร้างรายได้ให้กลุ่มต่างๆ ต้องยอมรับว่างานวิจัยในกระทรวงวิทย์ฯ ก็ยังเป็นส่วนน้อย แต่ที่มีมากคือในมหาวิทยาลัย ฉะนั้นอยากเห็นความร่วมมือกันหลายฝ่ายในการเอาเทคโนโลยีมาช่วยชาติ ทางกระทรวงวิทย์ฯ ก็พยายามลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น science park ในทุกภาคของประเทศ เป็นต้น
ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้าว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะโต 3.5% ดีขึ้นกว่า 6-7 ปีที่เเล้วมาก หลังจากปี 2005 ที่ต้องเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะ อัตราการโตทางเศรษฐกิจก็น้อยลงอย่างมาก เมื่อแนวโน้มโลกไปอย่างนั้น ธนาคารแห่งประเทศ ไทย ก็คาดการณ์เลยว่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.5% ด้วย ซึ่งหากดูการคากการณ์ของไอเอ็มเอฟบอกว่าประเทศในกลุ่ม องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี เศรษฐกิจจะโต 1.9% ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะโต 4.8% ซึ่งในอาเซียน ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง คือ 20% และด้วยความที่มีไทยอยู่นี่เอง ทำให้อัตราการโตต่ำ ซึ่งถ้าไม่มีน่าจะเกิน5% ด้วยซ้ำ
นายบรรยง กล่าวว่า อีก1-2 ปี มาเลเซียก็จะแซงไทยและ อีก7 ปี เวียดนามก็จะแซงแแล้ว ภาวะของเราน่าห่วง เพราะว่า 10ปีที่ผ่านมาเราโตได้เพียง 3.25 % เราโตต่ำที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน
"การชะลอตัว 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากอะไร หากเรามองว่าเป็นเรื่องของวัฏจักร ดูจะมีหวังว่าอีกไม่นานจะฟื้น แต่ถ้าเป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง อันนี้จะเป็นเรื่องยากกว่า ซึ่งไทยมีปัญหาตรงจุดนี้ คือโครงสร้างเรามีปัญหา” ผู้บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวและว่า ปัญหาของไทยเรื่องแรกคือ แข็งนอกอ่อนใน คือ เศรษฐกิจที่ฟื้นมา ส่งออกเพิ่มในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นเพราะต่างประเทศฟื้นตัว เราเลยได้อานิสงค์ไปด้วย ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายในของเรา ขณะเดียวกันเราหวังเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องของข้างนอกมาเข้าใน แม้ว่าตัวเลขท่องเที่ยวจะเพิ่ม แต่อย่าลืมว่าภาคส่วนอื่นๆ ยังน่าห่วง
ประเด็นต่อมาของปัญหาเศรษฐกิจไทย นายบรรยง กล่าวว่า คือลักษณะแข็งบนอ่อนล่าง คือคนข้างบน แข็งแรง บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแชมเปญฉลองกัน จากกำไร 21% มูลค่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนบริษัทเหล่านั้น คือ25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ จีดีพี ซึ่งพวกเขาโต 21% ขณะที่เศรษฐกิจทั้งหมด 100% เราโตได้แค่ 3% เท่านั้น ความเหลื่อมล้ำของไทยจึงสูงมาก
ด้านนายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเบทาโกรกล่าวถึงเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า น่าจะไปรอด เพราะดูเหมือนรัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคเกษตร ธุรกิจนี้ ไปรอดแน่ แต่คนในภาคเกษตรเกษตรกรของไทยไปรอดไหมตอบเลยว่า ไม่รอด
“ผมไม่แน่ใจว่า นโนบายรัฐบาลที่จะทำนิคมอุตสาหกรรม กับต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่าย จะคุ้มหรือเปล่า จากการลงพื้นที่ไปทำโครงการในโรงเรียนตามชนบท พบว่า เด็กในโรงเรียนมีปัญหาครอบครัว 80% ดังนั้น เวลาเราพยายามให้จีดีพีของประเทศโต ต้นทุนของชีวิตคนในชนบทที่ต้องจ่าย แพงไปหรือเปล่า” นายวนัส กล่าว
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ กล่าวว่าแม้เศรษฐกิจไทยโตได้ช้าไป แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็เป็นอะไรที่น่าพอใจ ถ้าทำไม่ได้ เราอาจเดือดร้อนกว่านี้มาก
"เศรษฐกิจเที่ยวนี้นับตั้งแต่ปี 2557 ดูจากตัวภาพรวมเศรษฐกิจ จาก 2.9% จนขยับมาถึงไตรมาสหนึ่งของปีนี้ ที่3.3% หลังจากที่ผ่านความวุ่นวายภายใน เจอภัยแล้ง หนักมาก สองปีแรกมาจากท่องเที่ยวที่โตเพิ่มขึ้นปีละ 20% ขณะที่ตัวรัฐบาลในการผลักดันลงทุนใช้จ่ายกับโครงสร้างพื้นฐาน จนมาปีนี้ ที่ต้นปีโต 3.3% ตอนนี้เริ่มมีแสงสว่าง น่าพอใจได้มากขึ้น ภัยแล้งจบแล้ว ส่งออกดีขึ้น
ดร.ปรเมธี กล่าวถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังต่ำในตัวของเทียบกับเป้าหมายของประเทศ เราดูในระยะยาวว่าเราจะต้องมีการตั้งเป้าเศรษฐกิจ เพื่อให้เรามีรายได้สูงในอนาคต อย่างน้อย จีดีพีต้องเพิ่ม 5% ต่อเนื่องทุกปี ในส่วนที่ข่าวบอกว่าคนเดือดร้อนจากเศรษฐกิจก็สะท้อนในภาพรวมอย่างน้อย รายได้ จีดีพีไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคนรายได้น้อย เพราะว่า เกษตรกรในช่วง2 ปี หนักมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาโครงสร้าง จีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจไทยหมดยุคเดิมที่เราโตได้ หมดเรื่องแรงงานราคาถูก เรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ ตอนนี้เรามีคู่แข่งมากมาย ทำให้ต้องเริ่มปรับตัว จะหวังว่าจะกลับไปโตแบบเดิมคงยาก ต้องปรับเป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ๆ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อะไรต่างๆ ที่เป็นโจทย์หิน ที่จะปรับกลไกขับเคลื่อนแบบใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการชี้ศก.ไทยครึ่งปีหลังกระเตื้อง สวนทางเอกชน เชื่อซึมยาว