พบฝุ่น PM2.5 ใน 14 เมืองของไทย เกินค่าความปลอดภัย WHO
กรีนพีชฯ อัพเดทสถานการณ์มลพิษ PM2.5 พบม.ค.-มิ.ย. 60 เมือง 14 เเห่งในไทย มีความเข้มข้นของฝุ่นเกินค่าความปลอดภัย WHO จี้รัฐติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วปท. เข้มงวดควบคุมควันดำ
วันที่ 8 ส.ค. 2560 กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแถลงข่าว เรื่อง Unmask Our Cities:อัพเดทสถานการณ์มลพิษ PM2.5 พร้อมเสวนา เรื่อง ฝุ่นละออง PM2.5 แผนการจัดการมลพิษทางอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ณ อาคารแคปปิตอล ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีชฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์มลพิษ PM 2.5 ในประเทศไทยว่า จากการประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุด ใน 14 เมืองทั่วประเทศ ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2560 พบว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ทั้ง 14 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก ขอนแก่น สระบุรี กรุงเทพฯ ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ราชบุรี และสงขลา เกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
“2 เมืองที่มีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้น PM 2.5 สูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น 44 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และสระบุรี 40 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ 4 เท่า” ผู้ประสานงานฯ กรีนพีช กล่าว และว่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นพบอันดับไม่แตกต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-59) หนึ่งในนั้น จ.เชียงใหม่ติด 1 ใน 5 จังหวัดมาโดยตลอด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการคมนาคมและการเผาในที่โล่ง
ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อให้มลพิษทางอากาศถูกใช้เป็นตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืน น.ส.จริยา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษทำได้ในเรื่องการกำหนดมาตรฐานใหม่ ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุม และการกำหนดนโยบาย แต่การกำหนดนโยบายต้องถูกขับเคลื่อนจากทุกกระทรวง เพราะมลพิษ PM 2.5 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องคมนาคม อุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมต้องจำกัดการปล่อยมลพิษ หรือออกกฎให้วัดคุณภาพอากาศจากฝาปล่อง พร้อมกับจัดสร้างฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
ด้าน นายเสกสรร แสงดาว ผอ.ส่วนแผนงาน สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษมีสถานีการตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดไม่เกิน PM 2.5 ใน 18 จังหวัด 26 สถานี อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 จะขอจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 20 ชุด ใช้ในพื้นที่วิกฤติ 13 ชุด คือในภาคเหนือ 6 ชุด ได้แก่ จ.แพร่ ลำปาง เชียงราย และกทม.-ปริมณฑล 6 ชุด และใช้ในพื้นที่ทั่วไป 7 ชุด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี ชลบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ เลย และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าจะจัดซื้อครบทุกสถานีในปี 2562 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณด้วย
ขณะที่หลายประเทศได้เริ่มตรวจวัดปริมาณมลพิษ PM2.5 ในบรรยากาศ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย 65 สถานี, สิงคโปร์ 22 สถานี, ฟิลิปปินส์ 22 สถานี, เกาหลีใต้ 50 สถานี, จีน 900 สถานี, กัมพูชา 1 สถานี ส่วนเมียนมา และลาว ยังไม่มีการตรวจวัดมลพิษ PM2.5
ขณะที่ นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยจะต้องยอมรับว่า ค่าPM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นต้องควบคุมแหล่งกำเนิดให้ปล่อยฝุ่นละอองออกมาไม่เกินมาตรฐาน โดยกำหนดให้มีการทำบัญชีการปล่อย PM2.5 จากทุกแหล่งกำเนิดก่อน และจะต้องปรับปรุงมาตรฐานในบรรยากาศและแหล่งกำเนิดให้สอดคล้องกับประเทศใกล้เคียง เช่น จีน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป
นอกจากนี้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศของไทยทุกแห่งควรติดตั้งเครื่องมือวัดค่า PM2.5 และส่วนราชการต้องรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงพิษภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กและหลีกเลี่ยงการสัมผัส ที่สำคัญหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพอนามัยต้องให้ความสำคัญและมีมาตรการเข้มงวดในการควบคุมควันดำ (Black Carbon) ที่ปล่อยออกมา เช่น การระบายอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเผาวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรกรรม และขยะในพื้นที่โล่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ของส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เรียกว่า เล็กมากจนกระทั่งสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และหากปล่อยให้เข้าสู่กระแสเลือด เกิดการสะสม จะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง องค์การอนามัยโลก จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM 2.5 อยู่ในกลุ่ม 1 ของสารก่อมะเร็ง ในปี 2556
อ่านประกอบ:ฝุ่นละอองไม่เกิน PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ ภัยคุกคามสุขภาวะคนไทย
ภาพประกอบ:CM Publica