ฉบับเต็ม! คำสั่ง คกก.วินิจฉัยฯ สขร. ให้เปิด MOUรถไฟ ไทย-จีน พ่วง MOI ไทย-ญี่ปุ่น
ดูชัดๆ คำวินิจฉัยฉบับเต็ม 6 หน้ากระดาษ คณะกรรมการวินิจฉัยฯ สขร. ยกเหตุผล ทำไมต้องเปิด MOU รถไฟไทย-จีน MOI ไทย-ญี่ปุ่น ให้ผู้ร้อง หลัง ก.คมนาคม ยึดหลักปกปิดไว้ก่อน อ้างสารพัดผลกระทบอำนาจต่อรองคู่เจรจา เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย กำลังได้เปรียบ
เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ได้มีมติให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง รถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 2 รายการ ให้แก่ นายอรุณ อังศุยานนท์ ผู้ขอ ซึ่งเป็นผู้ร้องขอและยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (สขร.) ภายหลังจาก สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลทั้งสองรายการ โดยให้เหตุผลว่า หากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังคู่สัญญาของประเทศไทยในอนาคตอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย (อ่านประกอบ:ไม่ใช่สนธิสัญญา! คกก.วินิจฉัยฯ สขร.สั่งเปิด MOU รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น หลังถูกปิดข้อมูล)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศฯฉบับเต็ม จำนวน 6 หน้ากระดาษมาเสนอ
อุทธรณ์เรื่องนี้ได้ความว่า นายอรุณ อังศุยานนท์ ผู้อุทธรณ์ ตำแหน่งวิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร มีหนังสือลงวันที่ 20 ธ.ค.2559 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอคัดสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ดังต่อไปนี้
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOU) ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565
2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น (MOI) ภายใต้การพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คค0201/199 ลงวันที่ 11 ม.ค.2560 ถึงผู้อุทธรณ์ชี้แจงดังนี้
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOU) ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 กระทรวงคมนาคมไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้
เนื่องจากข้อมูลยังไม่ได้ข้อยุติและเอกสารที่ขอเป็นเอกสารการลงนามระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคม ยังมีประเทศคู่เจรจาอื่นอีก เช่น ญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนกับประเทศไทย เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ดังนั้นหากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังคู่สัญญาของประเทศไทยในอนาคตอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย
2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น (MOU) ภายใต้การพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า แม้ประเทศไทยและญี่ปุ่นจะได้ข้อยุติในการเจรจาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจ ซึ่งการเปิดเผยบันทึกความเข้าใจฯ อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆได้ หากมีการนำข้อตกลงมาเปรียบเทียบ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย ขณะนี้มีความร่วมมือด้านระบบรางกับประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ดังนั้งจึงเห็นว่าไม่ควรเปิดเผยข้อมูลในข้อ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 15(1) แห่ง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
ผู้อุทธรณ์มีหนังสือลงวันที่ 26 ม.ค.2560 อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศพิจารณาคำอุทธรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเท็จจริงสรุปได้ความว่า ผู้อุทธรณ์มีหนังสือลงวันที่ 20 ธ.ค.2559 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอคัดสำนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารจำนวน 2 รายการ ดังกล่าวข้างต้น แต่สำนักปลัดกระทรวงคมนาคมปฏิเสธการเปิดเผย ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
ชั้นพิจารณาของ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ผู้แทนกระทรวงคมนาคมเช้าชี้แจงด้วยวาจาพร้อมส่งหนังสือชี้แจงและเอกสารประกอบเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2560 และกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงเพิ่มเติมตามหนังสือ ด่วนที่สุดที่ คค 0206/4653 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2560 สรุปได้ว่า โครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ยังมีการประชุมเจรจาสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติในหลายประเด็น เช่น ด้านการเงินการจัดทำร่างสัญญาและแผนงาน จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลทุกครั้งเมื่อมีการประชุมเพื่อให้สอดคล้องกับผลการประชุมในแต่ละครั้ง จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้อุทธรณ์ได้ ดังนั้นหากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังคู่สัญญาของประเทศในอนาคต อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย จึงเห็นควรไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามมาตรา 15 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้มีการจัดทำข้อมูลความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม โดยมีรายละเอียดคววมเป็นมาของโครงการ สาระสำคัญของ MOU แผนงานโครงการและผลการประชุมคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ขณะนี้ไทยและจีนยังอยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อยุติในรายละเอียดของโครงการ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงานเป็นระยะๆ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อยุติก่อนลงนามในสัญญาและเริ่มต้นการก่อสร้างได้
สำหรับความร่วมมือด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่น แม้ว่าไทยและญี่ปุ่นจะได้มีการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือ (MOI) ดังกล่าวระหว่างกันไปแล้ว แต่ขณะนี้ ญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตาม MOI ซึ่งต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของโครงการก่อนดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศสเสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความ่ววมือระบบรางกับ สหพันธรัฐรัสเซียกับราชอาณาจักรสเปน ซึ่งกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากขณะนี้ไทยอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบคู่เจรจาความร่วมมือด้านระบบรางทั้งที่ไทยมีความร่วมมืออยู่แล้วและกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ดังนั้น หากมีการเปิดเผยเนื้อหาของ MOU ไทย-จีน และ MOI ไทย-ญี่ปุ่น ให้ประเทศคู่เจรจาอื่นได้รับทราบอาจมีผลทำให้ไทยเสียหรือลดอำนาจในการเจรจาต่อรองลงได้ เนื่องจากไทยมีเงื่อนไขในการจัดทำความร่วมมือแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศคู่เจรจา จึงเห็นควรให้ปกปิดเอกสารต้นฉบับทั้งสองรายการตามเหตุผลและความจำเป็นข้างต้น
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้ (ดูเอกสารประกอบ)
โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ ให้ประชาชนได้รับทราบตามสิทธิ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ
จึงวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 1 และ รายการที่ 2 พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์