การลงทุนขนาดใหญ่อย่าซื้อเทคโนโลยีอย่างเดียว ต้องเน้นการถ่ายทอดด้วย
ตามที่ รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในช่วงเวลา 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ (1) ความมั่นคง (2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ นั้น
รัฐบาลนี้ได้พยายามสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง เป็นต้น รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการขับเคลื่อน Thailand 4.0 (smart city, Smart Industry, Smart People) และ การสร้างอุตสาหกรรมดิจิตอลให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S curve และอื่น
แน่นอนว่า ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันตามที่กล่าวมาในข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีนั้น ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการพึ่งพา และนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากเราคิดแค่จะนำเข้าเทคโนโลยีเพียงเพื่อมาใช้งานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ให้สามารถเป็นมากกว่าผู้ซื้อหรือผู้ใช้เทคโนโลยี ประเทศก็คงยังเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเรื่อยไปจนชั่วลูกชั่วหลาน และไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้
ดังนั้น การปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วยการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคนของเราให้มากกว่าที่เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากเจ้าของเทคโนโลยี จำเป็นต้องได้รับฝึกฝนให้มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถยกระดับจากผู้ใช้ ไปสู่ให้สามารถดูแลรักษาระบบด้วยตัวเองได้ เป็นอย่างน้อย ไปจนถึงมีความสามารถเพียงพอที่จะไปแข่งขันเวทีโลกได้ ตั้งแต่การสร้างชิ้นส่วนเล็กๆไปจนถึงการส่งออกเทคโนโลยี ได้ด้วยตนเองทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้
ดังนั้น ในการทำสัญญาโครงการที่มีงานเทคโนโลยีขั้นสูง หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transferring) ไม่น้อยไปกว่าระบบงานหลักของโครงการ ด้วย
โครงการจัดหา ระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอพพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นับเป็นโครงการขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่งที่ใช้งบประมาณแผ่นดินลงทุนค่อนข้างสูงไปกับการใช้ และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ดังนั้น โครงการควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้และต้องสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยีการสำรวจด้วยดาวเทียมและระบบประยุกต์ภูมิสารสนเทศ ต้องมีเป้าหมายในเรื่อง อุตสาหกรรมดาวเทียมสำรวจของประเทศในอนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้าว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกดาวเทียม หรือชิ้นส่วนดาวเทียม? หรือผลิตบุคคลากรสู่ตลาดโลก? หรือจะมีเป้าหมายเพียงให้สามารถดูแลรักษาระบบดาวเทียมที่กำลังซื้อมานี้ด้วยตนเองได้? เป็นต้น
รัฐบาลต้องศึกษา และวางแผนเชิงเศรษฐกิจและการตลาด ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าเป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นไปได้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้ไป เมื่อมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว หากรัฐบาลต้องการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแท้จริงแล้ว การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) จากเจ้าของเทคโนโลยีต้องปรากฏเป็นสาระสำคัญในข้อกำหนด ให้เพียงพอและสามารถตอบรับกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ แผน ของประเทศในสาขานี้ได้จริง และเป็นสัดส่วนสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคาที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว การถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้นควรจะถูกกระจายไปยังสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างทั่วถึงเป็นหลัก เนื่องจาก GISTDA ได้ให้เหตุผลว่าจะนำประโยชน์ของดาวเทียม THEOS-2 นี้ไปใช้กับหน่วยงานภาครัฐในแทบทุกกระทรวง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://sites.google.com