เปิดข้อโต้แย้ง สตง.ค้านรายงาน กก. สอบวินัยปม5ขรก.สภาผู้แทนฯปรับปรุงห้องประชุม36.5ล.
เปิดข้อโต้แย้ง สตง. ค้านรายงาน กก.สอบวินัยร้ายแรง ปม 5 ขรก.สภาผู้แทนฯปรับปรุงห้องประชุม 36.5 ล้าน ชี้อนุญาตเอกชนดำเนินการก่อนทำสัญญา ลงนามใบสั่งจ้างก่อนได้งบ ต้องรับผิดทางละเมิดด้วย ก่อนเลขาสภาฯลงนามยุติเรื่อง
จากกรณีคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (กร.) แต่งตั้ง น.ส.สุนทร รักเมือง ผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เคยตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกสอบข้อเท็จจริง และถูกสอบสวนทางวินัย ในการปรับปรุงห้องประชุมรัฐสภา 3301 อาคารรัฐสภา 3 วงเงินกว่า 36.5 ล้านบาท เมื่อปี 2556 เบื้องต้นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายสรศักดิ์ เพียรเวช) ลงนามยุติเรื่องแล้วนั้น (อ่านประกอบ : สตง.ค้าน-กก.สอบสรุปไม่ผิด!เปิดข้อหารองเลขาสภาผู้แทนฯใหม่ปรับปรุงห้องประชุม 36.5 ล., เปิดครบข้อหา5ขรก.เลขาสภาผู้แทนฯปมปรับปรุงห้องประชุม36.5ล. -‘สรศักดิ์’เซ็นยุติเรื่อง?)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ระหว่างที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดำเนินการสอบอยู่นั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบโครงการปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าวคู่ขนานไปด้วย ได้ขอรายงานการสอบสวนทางวินัยดังกล่าวมาพิจารณา หลังจากนั้นจึงทำข้อโต้แย้งรายงานผลการสอบของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดังกล่าวถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ข้อโต้แย้งของ สตง. ต่อรายงานการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดังกล่าว สรุปได้ว่า ไม่เห็นพ้องกับรายงานผลการสอบสวนทางวินัยดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้แก่ นายสุชาติ โรจน์ทองคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักรักษาความปลอดภัย น.ส.สุนทร รักเมือง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ นายสุชนา ศรีสิยวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน (นายช่าง) ระดับอาวุโส นายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัสดุ และนายสมโภชน์ อุมวะนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ ระดับปฏิบัติการ
เนื่องจากตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดจ้าง และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่า นายสุชาติ ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้าปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว ก่อนลงนามในใบสั่งจ้าง มีนายสุชนา มีความเห็นให้เข้าดำเนินการบางส่วนได้ ถือว่ามีผลผูกพันต่อกันโดยที่มิได้ทำสัญญาหรือข้อผูกพัน จึงเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังพบว่า การลงนามในใบสั่งจ้างดังกล่าว เป็นการก่อหนี้ผูกพันก่อนที่จะได้รับอนุมัติเงินประจำงวดตามใบโอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย เป็นการขัดต่อมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมี น.ส.สุนทร นายพิสิฏฐ์ และนายสมโภชน์ ลงนามในบันทึกสำนักการคลังและงบประมาณ เสนอเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) พิจารณาอนุมัติลงนามในใบสั่งจ้าง ก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ
แต่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมิได้นำบทกำหนดโทษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ มาพิจารณาแต่อย่างใด
สตง. พิจารณาแล้วยังเห็นอีกว่า เห็นควรให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ต้องถูกดำเนินการความรับผิดทางละเมิดด้วย เป็นเงิน 36.5 ล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นควรทบทวนผลการดำเนินการดังกล่าว และต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และรีบดำเนินการโดยรวดเร็วเพื่อให้ขาดอายุความ
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2559 นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามยุติเรื่องดังกล่าวแล้ว