อดีตนายกฯ ชี้แม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่คนไทย จะพัฒนาอะไรให้เห็นแก่จิตใจปชช.
อดีตนายกรัฐมนตรี แนะผู้บริหารกรุงเทพฯ เห็นคุณค่าการเป็นเมืองใหม่ สร้างเมืองให้น่าอยู่ มีความร่มเย็น มีต้นไม้ใหญ่ ห่วงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่คนไทยทั้งชาติ ทำลายวิถีชีวิตชุมชน คนหาเช้ากินค่ำ พัฒนาเมืองแบบอยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ได้ น่าห่วง
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเทศกาลริมน้ำบางกอก ที่พิพิธบางลำพู ถนนพระอาทิตย์ ตอนหนึ่งถึงกรุงเทพฯ มีคนอยู่ประมาณ 14 ล้านคน ที่เห็นทุกวันนี้เห็นแต่ความแออัด เรียกว่า กรุงเทพเป็นเมืองที่ไม่มีแบบแผน ไม่มีการวางแบบ ไม่มีการวางแผนเลย และไม่มีใครสนใจให้สิ่งก่อสร้างต่างๆเป็นไปตามแผนเมือง ฉะนั้นคุณภาพชีวิตคนกรุงนั้นตกต่ำอยู่เรื่อย ตกต่ำในเรื่องสิ่งที่เรามองเห็น และสูดอากาศเข้าไปในปอด สิ่งที่บาดหูบาดตา เสียงเต็มไปหมด
"ผมถามจริงๆ เถอะครับ อยู่กรุงเทพได้คุณภาพชีวิตแบบที่คุณอยากมีหรือเปล่า คนไทยเราเข้าใจความหมายเมืองใหญ่ๆที่ดีมีคุณภาพกันอย่างไร หรือเราอยากเป็นสมัยใหม่ตลอดเวลา สร้างตึก 40 ชั้น 50 ชั้น 80 ชั้น ในซอยรถไม่วิ่งแล้วกทม.ก็ให้สร้างอย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่คำนึงถึงจะต้องมีรถ 200-300คัน รถยนต์เต็มถนน เสียงก็ดังลั่นตลอดเวลา หาที่สงบ ที่วังเวงไม่มีเลย"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การเป็นเมืองทันสมัยไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีตึกรามบ้านช่อง เทียบกับนิวยอร์ก ชิคาโก เซียงไฮ้ เมื่อไหร่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นคุณค่าการเป็นเมืองใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเมืองทันสมัย แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความร่มเย็น มีต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่ต้นไม้โตมาแล้วหักง่าย หรือต้นไม้ที่กีดขวางสายไฟฟ้าแล้วต้องตัดต้นไม้ก่อน จะสร้างถนนก็ต้องตัดต้นไม้ก่อน ขยายถนนก็ต้องถมคลองก่อน
นายอานันท์ กล่าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยามีความหมายมาก หากเปรียบบางกระเจ้าเป็นปอดของคนกรุงเทพแล้ว เจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนกรุงเทพและคนไทย ทำไมความทันสมัยต้องทำลายของเก่า ทำลายชีวิตชุมชน ทำลายความสงบ
"ผมอยากเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีสิ่งกีดขวางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ตึกรามบ้านช่องที่ยื่นออกไปในแม่น้ำ อยากเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาใสสะอาด ลงไปว่ายน้ำได้ มีปลา ไม่มีขยะ ผักตบชวา การจราจรทางเรือ เราต้องเรียกร้องความสงบกลับมา ซึ่งหากทำลายก็ขอให้ทำลายสิ่งที่ไม่ดีที่ทำมาในอดีต สิ่งที่จะสร้างใหม่ขอร้องให้เห็นแก่จิตใจประชาชน วิถีชีวิตชุมชนบ้าง เห็นสิ่งที่เขาหวงแหน เขาอยู่ที่นี่เกิดที่นี่ ใช้ชีวิตที่นี่ ทำไมต้องสร้างนู้นสร้างนี่ขึ้นเพื่อของคนใหม่ๆ ไม่เห็นหัวคนเก่าๆ ไม่เห็นความยั่งยืนของโบราณ ไม่เห็นคุณค่าประเพณีนิยม สิ่งที่ก่อให้เกิดวิญญาณของคนกรุงเทพ ทำไมไปทำลาย เบียดเบียนคนหาเช้ากินค่ำ สังคมอยู่ไม่ได้หากคนพวกนี้ถูกลืม ถูกตัดหางปล่อยวัด เพราะเขามีจิตใจแม้จะไม่มีเสียงมากนัก ให้พวกเขามีความหวังกับการพัฒนาเมือง ประเทศชาติไปในทิศทางที่คนอยู่ร่วมได้กับธรรมชาติ"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วิถีชีวิตเก่าต้องผสมผสานกับวิถีชีวิตใหม่ แปลกใจที่คนที่หัวก้าวหน้าอยากอนุรักษ์ไม่ขัดกัน แต่คนเราไม่รู้จักของ ไม่รู้จักระลึกถึงของในอดีต ไม่ได้บทเรียนจะเดินไปสู่อนาคตไม่สดใส และมืดมัว