รองนายกฯ เผยเล็งจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยไซเบอร์ คาดส.ค.นี้รู้ผล
รองนายกฯ เผยความคืบหน้า จัดตั้งคณะกรรมการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ คาดเสร็จสิ้นภายในสิงหานี้ ด้านกฎหมายอยู่ในช่วงปรับให้ทันสมัย เตรียมประกาศภายในปีนี้ พร้อมก้าวสู่ความร่วมมือระดับอาเซียน
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 60 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “cyber Security : Challenges and Opportunities in the Digital Economy” โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในห้วข้อ “ยุทธศาสตร์ Cyber Security รัฐ-เอกชนร่วมใจก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0”
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดอันดับดัชนีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์(GCI) ประจำปี 2560 ให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาด้าน Cybersecurity อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาทุกภาคส่วนไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ซึ่งนั่นหมายถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งประเทศ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงข้อสังเกตในคณะรัฐมนตรีในปี 2558 ในการเร่งรัดในเรื่องการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านไซเบอร์ให้มีความทันสมัย เพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันต้องเพิ่มเติม ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ที่สามารถเชื่อมโยงได้ในทุกมิติ เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ทั้งความมั่นคง สถาบันการเงิน เรื่องเศรษฐกิจสังคม การค้า การบริการ สาธารณสุข โดยเฉพาะ รถไฟความเร็วที่ต้องควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัย จึงจำเป็นที่ต้องมีระบบการป้องกันความปลอดภัยจากความเสี่ยงของการเข้าโจมตีไซเบอร์
“ ยุทธศาสตร์ อีกอย่างที่ทางกระทรวงดิจิทัล ได้เสนอให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณาให้เป็นคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber security Commitee) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีผู้ร่วมเป็นกรรมการ เช่น สถาบันการเงิน ผู้ที่ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ทรงคุณวุฒิเอกชน เป็นต้น มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนของกฎหมายจะมีการนำมาใช้ภายในปี 2560 ยุทธศาสตร์ก็เช่นกัน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า จากนี้ไป เราจะบูรณาการกันกับ ภาคส่วนที่อยู่ในประเทศไทย ประชาชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ส่วนของอาเซียนจะทำเป็นลักษณะ ความปลอดภัยไซเบอร์อาเซียน (Asean Cyber Security) โดยความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาช่วย ร่วมถึงทาง ญี่ปุ่น จีน ภายในปี 2560 หวังว่าจะเป็นไปตามแผน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนที่จะเกิดขึ้นในยุทธศาสตร์ด้านไซเบอร์ให้มั่นใจว่า เราจะเปิดรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดเป้าหมายร่วมกัน เป็นไปตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ เราจะมีความชัดเจนในการกำหนดภารกิจว่าอะไรจะเป็นภารกิจหลัก และภารกิจรอง ในส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ต้องเน้นเรื่องการป้องกันเป็นอันดับแรก เรามีระบบอยู่เเล้ว มีเครือข่ายอยู่เเล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ปลอดภัยมากขึ้น ในเรื่องการพัฒนาคน เครื่องมือต่างๆ องค์กรที่จะมารองรับให้ครอบคลุมในทุกมิติ สิ่งสำคัญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานว่า การที่เราจะมีระบบ อินเทอร์เน็ต ระบบเครือข่ายต่างๆ ถ้าเราไม่มีพลังงานไฟฟ้าเข้ามาป้อนก็จะล้มเหลว เพราะฉะนั้น พลังงานไฟฟ้าต้องมี ห้องควบคุมต้องปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความเสถียร.