อาจมีปัญหาในอนาคต! สตง.ชง รมว.ดีอี-กสทช. ทำโครงการเน็ตความเร็วสูง2หมื่นล.รอบคอบ
สตง. ทำหนังสือถึง รมว.ดีอี-เลขาฯ กสทช. ขอให้ทำอย่างรอบคอบ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ 2 หมื่นล้าน หลังพบอาจก่อปัญหาในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้คำนึงถึงผลกระทบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เบื้องต้น สตง. ตรวจสอบพบว่า สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการนี้ ในส่วนของ Zone C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน โดยภายใต้โครงการดังกล่าวจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ โดยใช้เงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ตามแผนการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม พ.ศ.2555-2559 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้มีรูปแบบการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินงานในอนาคต
สตง. พบว่า โครงการนี้จะมีการดำเนินการในสองส่วน คือ
1.การลงทุนด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service)
โดยสำนักงาน กสทช. จะว่าจ้างผู้ให้บริการเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงจากจุดหรือพิกัดของสถานที่ที่จะเริ่มต้นศูนย์ USONET ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ซึ่งเรียกว่า UBTC Node และหมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งการลงทุนในโครงการข่ายตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงศูนย์ USONET และหมู่บ้านเป้าหมายนั้น สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ลงทุนโดยให้ผู้ให้บริการดำเนินการวางโครงข่ายเคเบิลโดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในส่วนนี้หากผู้ให้บริการรายใดต้องการเข้ามาดำเนินการให้บริการกับประชาชน จะต้องมีการลงทุนเดินสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจาก Node สุดท้ายของตนเองที่เรียกว่า X Node มายัง NBTC Node ด้วยเงินลงทุนของผู้ให้บริการเอง
2.การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Moblie Service)
สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ลงทุนในเสาสัญญาณตามลักษณะโมเดลเฟมโต้ (Femto Mobile Gateway) ซึ่งโมเดลนี้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทุกเครือข่าย ทำให้ผู้ให้บริการที่ชนะการประมูลสามารถสร้างและเชื่อมต่อได้ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเครือข่ายใดก็ตาม และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. รวมทั้งการรับมอบทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดสัญญา โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง รูปแบบการดำเนินโครงการ Broadband Internet Service ของสำนักงาน กสทช. จะเริ่มต้นจาก NBTC Node ไปยังศูนย์ USONET หรือหมู่บ้านเป้าหมาย โดยสำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ลงทุนเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อให้บริการ Free Wifi (Last Mile) และผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วมประกวดราคาจะต้องลงทุนเชื่อมต่อโครงข่ายจาก Node สุดท้ายของตนเอง (X Node) มายัง NBTC Node ด้วยเงินลงทุนของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า สำนักงาน กสทช. ลงทุนใน Last Mile และผู้ให้บริการลงทุนในการเดินโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) ซึ่งรูปแบบการดำเนินการจะแตกต่างจากการลงทุนของกระทรวงดีอี ที่มีนโยบายลงทุนสร้างโครงข่ายแกนหลัก ตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และผู้ให้บริการจะเป็นผู้ลงทุนใน Last Mile คือ เป็นผู้ลงทุนเดินสายเข้าไปยังหมู่บ้าน
สอง ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างให้บริการระหว่างสำนักงาน กสทช. กับผู้ให้บริการอาจมีประเด็นที่ว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างให้บริการ 5 ปี ผู้ให้บริการจะต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้สำนักงาน กสทช. แต่ด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ระบุให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม
จึงทำให้สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุม ดูแล และบริหารจัดการทรัพย์สินโครงข่ายได้ เป็นเหตุให้ท้ายที่สุดสำนักงาน กสทช. จะต้องส่งมอบทรัพย์สินโครงข่ายให้กับรัฐเพื่อบริหารจัดการต่อ ซึ่งก็คือกระทรวงดีอี จึงอาจเกิดปัญหาว่า Backbone Network เป็นของผู้ให้บริการ
เนื่องจากผู้ให้บริการลงทุนก่อสร้าง แต่โครงข่ายที่เป็น Last Mile ที่สำนักงาน กสทช. ลงทุน เป็นของดีอี ดังนั้นดีอี จะสามารถบริหารโครงข่ายอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ หรืออาจเกิดปัญหาในการให้บริการกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างให้บริการโครงการ 5 ปีแล้ว ภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดอาจตกเป็นของผู้ให้บริการที่หากการดำเนินโครงการต่อของผู้ให้บริการไม่สามารถทำกำไรได้ ผู้ให้บริการอาจไม่ให้บริการต่อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในที่สุด หรืออาจใช้ความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่สามารถใช้บริการได้มาเป็นเงื่อนไข เพื่อเรียกร้องให้รัฐให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อไป จนอาจเกิดภาระงบประมาณเป็นจำนวนมาก
หากรัฐต้องลงทุนสร้าง Backbone Network เอง ในกรณีที่ผู้ให้บริการไม่ดำเนินการต่อ ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความซ้ำซ้อนการลงทุนในโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของประเทศ ตามโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานฯของดีอี และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2559 ที่มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการของสำนักงาน กสทช. ต้องคำนึงถึงผลกระทบ นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินโครงการนี้ จึงส่งหนังสือถึง รมว.ดีอี และเลขาธิการ กสทช. เพื่อให้มีการพิจารณาโครงการดังกล่าวให้รอบคอบอีกครั้ง