กรมคุมประพฤติ เปิดสถิติผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำสูงถึง 22.78%
กรมคุมประพฤติ มุ่งแก้ไขปัญหากระทำผิดซ้ำ ถอดบทเรียนในสหรัฐ มีพนักงานคุมประพฤติ พนักงานพักการลงโทษ คอยสอดส่อง เยี่ยมบ้าน เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำผู้ได้รับการปล่อยตัว พร้อมเปิดเทรนด์แต่ละประเทศลดการจำคุก
วันที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. นายสมชาย เสียงหลาย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “บทบาทของงานคุมประพฤติในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งทัศนะมุมมองของผู้บริหารจากหน่วยงานยุติธรรม และนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและการป้องกันอาชญากรรม อันเป็นแนวทางงานคุมประพฤติในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำให้มีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อสถานการณ์ โดยมีพันตำรวจเอก ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสัมมนาฯ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมว่า เป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรง ทั้งจำนวนผู้กระทำผิดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรูปแบบวิธีการกระทำความผิดที่มีความหลากหลาย ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรม จึงควรเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมทั้งในเชิงรุกและรับเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการกระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการ กระทำผิดซ้ำที่นับวันยิ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง อันเป็นปัญหาเรื้อรังที่บ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศชาติ
ด้านพันตำรวจเอก ดร.ณรัชต์ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติได้ให้โอกาสผู้กระทำผิดในการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการควบคุมสอดส่องและโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้คอยช่วยเหลือและสนับสนุนอยู่เสมอมา แต่ผู้ถูกคุมความประพฤติบางส่วนกลับไม่เห็นคุณค่าของโอกาสที่ได้รับ ไม่มารายงานตัว บางรายกระทำผิดซ้ำโดยไม่คำนึงว่า ตนเองอยู่ในระหว่างคุมความประพฤติหรือพักการลงโทษ กรมคุมประพฤติก็ไม่อาจนิ่งนอนใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ทิศทางของกรมคุมประพฤติควรมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้การป้องกันการกระทำผิดซ้ำนั้นมีประสิทธิภาพ กระชับ ฉับไว และเท่าทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
"ที่ผ่านมา พนักงานคุมประพฤติยังขาดอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และความเข้มงวดในระหว่างการคุมความประพฤติ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การละเมิดเงื่อนไข หรือกระทำผิดซ้ำได้เร็วกว่าที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเข้าไปดำเนินการต่อผู้ที่ละเมิดเงื่อนไขเหล่านั้น"
นายจอห์น ชาชนอฟกี้ (Legat John M. Schachnovsky) ที่ปรึกษากฎหมาย
Federal Bureau of Investigation (FBI) U.S. Embassy in Bangkok กล่าวถึงสถิติการกระทำผิดซ้ำระดับเมืองในสหรัฐอยู่ที่ 68% และสถิติการกระทำผิดซ้ำในระดับประเทศมีแค่ 20% ซึ่งพบว่า คดีอาชญากรรมไซเบอร์มีสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากคดีการก่อการร้าย การทุจริต อาชญกรรมทางเศรษฐกิจ ลักลอบค้ายา และล่วงละเมิดทางเพศ
นายจอห์น กล่าวถึงการกระทำผิดในสหรัฐฯ 98% ต้องออกจากคุกไม่ได้ถูกขังลืม ดังนั้นคนเหล่านี้ต้องได้รับการฟื้นฟูเพื่อกลับเป็นคนดีคืนสู่สังคม ในอดีตเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ ที่คอยสอดส่องคนเคยทำผิดหลังออกจากคุก เช่น 10 ปี สอดส่อง 2 ปี
"ปัจจุบันสหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่พนักงานพักการลงโทษ (Parole Officer)เจ้าหน้าที่พนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) ถือเป็นพนักงานบังคับใช้กฎหมาย คอยดูแลบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวล่วงหน้า หรือพักการลงโทษ หลังรับโทษจำคุกมาแล้ว 80% ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับเมือง และระดับรัฐ เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ" นายจอห์น กล่าว และว่า ข้อดีของพนักงานคุมประพฤติ และพนักงานพักการลงโทษ คือการได้ลงไปถึงชุมชน คอยตรวจตรา เป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมดจะไม่มีการใส่เครื่องแบบเพื่อเวลาทำงานได้กลมกลืนไปกลับชุมชน
ขณะที่ดร.มาติ้ จูทสัน (Dr.Matti Joutsen) ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวถึงรูปแบบสากลของงานคุมประพฤติ จะไม่มองที่คนกระทำความผิดทางอาญา ต้องถูกลงโทษจำคุกเสมอไป วันนี้โลกมีเทรนด์ลดการจำคุก เช่น ในทวีปยุโรปใช้การบริการสังคม,กักขังตัวที่บ้าน,ฝรั่งเศส โปแลนด์ ใช้เครื่องติดตามตัว กำไร EM สำหรับผู้กระทำผิดที่พักการลงโทษ หรือช่วงประกันตัว,การไกล่เกลี่ย ใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ และการจ่ายค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดสามารถลดภาระด้านงบประมาณของแต่ละประเทศลงได้
อนึ่ง สำหรับสถิติคดีอาชญากรรมของประเทศไทย มีผู้กระทำผิดที่เข้ามาในระบบคุมประพฤติประมาณ 350,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีผู้ถูกคุมความประพฤติผู้ใหญ่ จำนวน 144,796 คน ผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษ จำนวน 41,521 คน เด็กและเยาวชนที่ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 8,540 คน และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จำนวน 66,271 คน ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีผู้ที่พ้นการคุมความประพฤติด้วยดี จำนวน 174,698 คน คิดเป็น 87.36% และผู้ที่กระทำผิดเงื่อนไข 25,272 คน คิดเป็น 12.64% ในจำนวนผู้ที่ผิดเงื่อนไขนี้ มีทั้งผู้ที่เจตนาผิดเงื่อนไข จำนวน 9,323 คน ไม่มารายงานตัว จำนวน 1,963 คน ผู้ที่ศาลออกหมายจับ จำนวน 8,418 คน ถูกจับคดีใหม่ 3,733 คน และถูกจำคุก 1,835 คน
แม้ตัวเลขผู้ที่ผิดเงื่อนไขจะไม่สูงนัก แต่บุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งไปก่ออาชญากรรมที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในสังคมดังจะเห็นได้ตามข่าว โดยกรมคุมประพฤติ ยังไม่สามารถเข้าไปจัดการกับผู้ที่ผิดเงื่อนไขได้อย่างฉับไว ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำทั้งในระหว่างคุมความประพฤติ หรือที่พ้นการคุมประพฤติไปแล้ว สำหรับสถิติผู้ที่พ้นการคุมความประพฤติด้วยดีที่หวนไปกระทำผิดซ้ำสูงถึง 22.78%