เผยข้อสรุปบูรณะ “ถ้ำเขาหลวง” กรมศิลป์ฯ ต้องนำอิฐ-กระเบื้องโบราณที่รื้อออกไปกลับมาปูคืนสู่ถ้ำ พร้อมชะลอการบูรณะพระพุทธรูปออกไปก่อน เหตุไม่จำเป็น ย้ำต้องรักษาสภาพเดิมให้มากที่สุด ตั้งงบฯ 7 ล้านบาท ติดไฟภายในถ้ำ กลุ่มอนรักษ์ฯ หวั่นเสียสมดุลธรรมชาติ เหตุจุดเด่นเขาหลวงคือปล่องแสงจากฟ้า ระบุ ถ้าทำให้ถ้ำเปลี่ยนมากเกินไป เตรียมคัดค้านแน่
นายกฤษดากร อินกงลาศ ช่างเขียนลายไทย ครูช่างรุ่นใหม่เพชรบุรี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมเมืองเพชร กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่า จากการที่กรมศิลปากรได้เข้ามาทำการบูรณะถ้ำเขาหลวง ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์มีความกังวลว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองเพชรนั้น ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการดูแลตรวจสอบการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน กับ ตัวแทนจากกรมศิลปากร
โดยที่ประชุมมีมติให้ กรมศิลปากรต้องนำอิฐและกระเบื้องโบราณที่ถูกกรมศิลป์ฯรื้อออกไปที่ยังอยู่ในสภาพดี กลับมาปูพื้นคืนตามเดิมทั้งหมดโดยต้องลงมือทำทันที และมีมติให้ชะลอการบูรณะปิดทององค์พระพุทธรูปออกไปก่อน เพราะไม่มีความจำเป็นยกเว้นองค์พระที่กรมศิลป์ฯได้ขัดผิวไว้แล้ว โดยขอให้มีการปิดทองด้วยกรรมวิธีโบราณและไม่ใช้ทองที่มีความวาวมากเกินไป เพราะไม่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของถ้ำเขาหลวง ซึ่งจะมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อดูรายละเอียดของแผนบูรณะทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 7 ส.ค. 2560
สภาพถ้ำเขาหลวงในปัจจุบัน
ช่างลายไทยเมืองเพชร กล่าวต่อว่า มติที่ประชุมให้นำอิฐเก่าปูพื้นทางเดินด้านในของถ้ำเขาหลวงที่ยังมีสภาพดี นำกลับมาปูพื้นคืนตามเดิมประมาณ 10 – 15 ตารางเมตร โดยจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่เหลือจะผสมกันระหว่างอิฐโบราณและอิฐใหม่ ซึ่งน่าจะมีปัญหาเรื่องความไม่เท่ากันของขนาดของอิฐซึ่งอิฐโบราณจะมีขนาดใหญ่และหนากว่า ยังไม่รู้ว่ากรมศิลป์ฯจะทำอย่างไรให้พื้นเสมอกัน
ทั้งนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ กำลังจะดูว่ากรมศิลป์ฯ จะเลือกอิฐโบราณที่กรมศิลป์ฯ ขุดมาออกมาทิ้ง แต่ยังอยู่ในสภาพที่พอใช้กลับเข้าไปปูในถ้ำเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะอิฐเหล่านั้นแตกจากการขนย้ายออกจากถ้ำด้วยรอกของกรมศิลป์ฯ ไม่ได้เป็นอิฐที่เปื่อยยุ่ยตามข้ออ้างของกรมศิลป์ฯแต่อย่างใด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของกรมศิลป์ฯ ว่าจะเห็นคุณค่าอิฐโบราณเหล่านี้จริงๆหรือไม่อย่างไร
"สิ่งที่ทางกลุ่มเรียกร้องต่อกรมศิลป์ฯ คือ การทำให้ถ้ำเขาหลวงคงอยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งอิฐและกระเบื้องโบราณ เพราะโบราณวัตถุเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอิฐโบราณที่คนเพชร เรียกว่า “อิฐห้าร้อย” ซึ่งเป็นตำนานของถ้ำแห่งนี้ที่ชาวบ้านสมัยนั้นใช้ภูมิปัญญาในการสร้างจากวัสดุจากธรรมชาติเพื่อความแข็งแรงคงทนจนถึงปัจจุบันที่มีอายุนับร้อยปี ผิดกับอิฐสมัยใหม่ที่กรมศิลป์ฯใช้ เชื่อว่าคงไม่สามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี เพราะเท่าที่ดูเห็นได้ว่าอิฐใหม่ที่ปูได้แค่เดือนกว่าๆก็มีแตกแล้ว"
สภาพถ้ำเขาหลวงในปัจจุบัน
นายกฤษดากร กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดเหล่านี้ต้องติดตามดูกันต่อไปว่ากรมศิลป์ฯ จะทำอย่างไรให้อิฐภายในถ้ำมีสภาพเป็นเหมือนเดิม ซึ่งจะว่าไปแล้วถ้าเราไม่รู้เรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวงของกรมศิลป์ฯ ว่าสุ่มเสี่ยงแบบนี้ จนเราต้องเข้ามาค้าน เราอาจจะไม่เหลืออะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะถ้ำเขาหลวงบางส่วนถือว่าถูกทำลายไปแล้ว แต่เราก็จะพยายามคิดว่าเป็นการเสียอวัยวะเพื่อเป็นการรักษาชีวิต ดีกว่าโดนรื้อทั้งหมด ซึ่งอิฐเก่าที่ถูกรื้อไว้แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปทิ้งที่เหลือประมาณ 200 ก้อน จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าอิฐเหล่านี้คงทนกว่าอิฐใหม่ที่กรมศิลป์ฯนำมาใช้แค่ไหน
อีกหนึ่งเรื่องที่ทางกลุ่มกังวล คือ เรื่องที่กรมศิลป์ฯ ต้องการติดไฟภายในถ้ำ โดยใช้งบประมาณสูงถึง 7 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากและคงเป็นไฟที่อลังการเกรงว่าจะทำให้ถ้ำเขาหลวงเสียสมดุลธรรมชาติ การติดไฟในถ้ำถือว่าไม่มีความจำเป็น เพราะถ้ำเขาหลวงมีความสวยงามจากแสงอาทิตย์ที่สาดผ่าน"ปล่องแสง" ลงมาสู่ลานภายในถ้ำ ถือเป็นความงามตามธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำเขาหลวง ที่มีความเป็นธรรมชาติและมีความขลัง เราอยากรักษาความสวยงามตรงนี้เอาไว้
“กรมศิลป์ฯ บอกว่าไฟที่ใช้จะเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งช่างพื้นบ้านอย่างพวกเราไม่เข้าใจว่าเป็นไฟอะไร ทำไมต้องใช้เงินซึ่งเป็นภาษีของประชาชนถึง 7 ล้านบาท ผมมองว่าถ้ำเป็นสิ่งที่เก่าแก่โบราณตามธรรมชาติ เหมือนคนแก่ที่แก่ตามธรรมชาติ ซึ่งหากเรานำคนแก่มาเขียนคิ้ว ทาปาก คงเป็นเรื่องที่พิลึกและไม่เหมาะสม เพราะถ้ำเขาหลวงเป็นถ้ำโบราณมีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ควรมีการแต่งเติมมากเกินไป ซึ่งเราจะรอดูในรายละเอียดของแผนบูรณะทั้งหมดว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าไม่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของถ้ำทางกลุ่มเตรียมคัดค้านอย่างแน่นอน” นายกฤษดากร กล่าว
สภาพถ้ำเขาหลวงในปัจจุบัน
ช่างลายไทยเมืองเพชร กล่าวอีกว่า ปัญหาต่าง ๆ ในการบูรณะจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ากรมศิลป์ฯ มีความตรงไปตรงมา แจ้งกับประชาชนก่อนว่าจะเข้ามาทำอะไรบ้าง เหมือนที่เคยได้ตกลงกันไว้หลังจากที่กรมศิลป์ฯเคยบูรณะวัดใหญ่สุวรรณารามแล้วเกิดความผิดพลาด ไม่เป็นไปตามแบบดั้งเดิม ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเราทำข้อตกลงกับกรมศิลป์ฯไว้แล้วว่าหากมีการบูรณะที่ไหนต้องลงพื้นที่และปรึกษาหารือกับคนในพื้นที่ก่อน แต่กรมศิลป์ฯไม่มีความจริงใจและไม่เคารพข้อตกลงร่วมกันของภาคประชาชน ซึ่งในส่วนของนักอนุรักษ์ฯเราไม่ได้อยากให้เกิดปัญหาแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก
“จากการประชุมร่วมกัน ถือว่าข้อเรียกร้องภาคประชาชนทุกเรื่องได้รับการตอบสนอง รวมถึงการยอมรับผิดของกรมศิลป์ฯด้วย ซึ่งกรมศิลป์ฯควรเอาไว้เป็นตัวอย่างว่าเวลาที่กรมศิลป์ฯจะบูรณะโบราณสถานที่ไหนต้องมีการศึกษาและพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ก่อน เพื่อที่จะเข้าใจภาพต่างๆมากขึ้น ไม่ใช่มาทำงานแล้วต้องให้ชาวบ้านคัดค้านแบบนี้ เพราะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของกรมศิลป์ฯที่มีหน้าที่ดูแลมรดกของชาติเลย” นายกฤษดากร กล่าว .
สภาพถ้ำเขาหลวงในปัจจุบัน