พบข้อเท็จจริงใหม่ บมจ.นามยง เทอร์มินัล ฟ้องศาลฯ จี้กทม.จ่ายค่าเช่าที่จอดรถดับเพลิงกว่าพันล.
พบข้อเท็จจริงใหม่ บมจ.นามยง เทอร์มินัล ฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จี้กทม.จ่ายค่าเช่าที่จอดรถดับเพลิงกว่าพันล้าน ตั้งแต่ปี 2550 โอดทำหนังสือทวงถามหลายรอบ ยังเพิกเฉย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทนามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล การขนส่ง นำเข้า ส่งออก ขนถ่ายสินค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ ให้บริการใช้พื้นที่ตั้งวาง เก็บรักษาตู้คอนเทนเนอร์ และวัสดุสิ่งของ โดยกรรมการผู้มีอำนาจ 4 คน ประกอบด้วย นายเทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ นางสาวเพ็ญศรี เหลืองสุวรรณ นางสาวพิมพ์กาญจน์ เหลืองสุวรรณ และนายพงศ์เทพ เหลืองสุวรรณ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด การค้าระหว่างประเทศ รับขนของทางงทะเล รับฝากทรัพย์ จำนวนทุนทรัพย์ 1,040,809,382 บาท ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ในคำฟ้อง ที่ บริษัทนามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร มีสาระสำคัญ คือ
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรียได้ทำข้อตกลงความเข้าใจ เรื่องการจัดหารถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยให้จำเลย ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม 2547 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์กับบริษัทสไตเออร์-เดมเลอร์-พุค สเปเชียลฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคจี ซึ่งบริษัทผู้ขายได้ส่งมอบรถดับเพลิง 67 คัน และรถบรรทุกน้ำ 72 คัน แก่ผู้ขนส่งสินค้าทาทะเล โดยเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศชื่อ เปกาซุส ไดมอนด์ วี.85 ของบริษัทเอ็น วาย เค ไลน์ จำกัด ในการนี้บริษัทเอ็น วาย เค ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนสายเดินเรือดังกล่าวประจำประเทศไทยได้มีข้อตกลงกับโจทก์ โดยได้รับสิทธิในการนำเรือในสังกัดเข้าจอดเทียบท่าเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ เพื่อวางพักไว้ในโรงพักสินค้าหรือลานพักสินค้าที่ท่าเรือ เอ 5 ได้
เรือขนส่งสินค้าลำดังกล่าวมาถึงท่าเรือ เอ 5 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 รถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำนำเข้าของจำเลย รวมจำนวนทั้งสิ้น 139 คัน ได้รับการขนถ่ายจากเรือมาจอดพักไว้ในพื้นที่สำหรับสินค้าขาเข้าภายในเขตท่าเรือ เอ 5 ทั้งหมดในวันเดียวกันนั้น แต่ไม่มีผู้ใดมาติดต่อเพื่อขอรับสินค้าดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 กรมศุลกากรได้แจ้งโจทก์ทราบว่า สินค้าทั้งหมดตกเป็นของตกค้างตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ทั้งให้โจทก์แยกสินค้านี้ไว้เพื่อให้กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการจำหน่ายต่อไป
เมื่อกทม.ไม่ได้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรเพื่อขอรับสินค้าที่สั่งซื้อไปจากบมจ.นามยง เทอร์มินัล ทำให้กบมจ.นามยง เทอร์มินัล ต้องเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวไว้ต่อไป กทม.มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้าและค่าภาระยกขนสินค้าเพิ่มเติม ตลอดจนค่าภาระฝากสินค้าขาเข้าประเภทยานพาหนะด้วย บมจ.นามยง เทอร์มินัลทวงถามแต่กทม.เพิกเฉย
ดังนั้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2555 บมจ.นามยง เทอร์มินัล จึงยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลนี้ ให้ชำระหนี้ฐานผิดสัญญา เป็นเงินจำนวน 530,367,091.53 บาท เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ กค. 108/2555 ศาลพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาในวันที่ 18 มีนาคม 2556 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ กค. 34/2556 ยกฟ้องบมจ.นามยง เทอร์มินัล ด้วยเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว
บมจ.นามยง เทอร์มินัล ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์พิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นในเบื้องต้นว่า กทม.เป็นคู่สัญญาผู้ซื้อกับบริษัทสไตเออร์-เดมเลอร์-พุค สเปเชียลฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคจี ผู้ขาย ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบสินค้า ผู้ซื้อมีหน้าที่ยอมรับการส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย การส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ห่างกัน โดยระยะทางจึงต้องมีการขนส่งจากต้นทางมายังปลายทาง โดยใช้บริการของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโดยลักษณะการขนส่งประเภทนี้จะต้องมีการใช้ท่าเรือ หรือท่าเทียบเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือเดินทะเล ตามแต่ลักษณะทางกายภาพของสินค้า มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบและการรับส่งมอบสินค้าให้เสร็จสิ้นได้ตามสัญญาซื้อขาย
การที่เรือเดินทะเลมาถึงท่าเทียบเรือที่บมจ.นามยง เทอร์มินัล เป็นผู้บริหาร และให้บริการโดยมีการจัดเตรียมอาคารสถานที่ พื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไว้รองรับตั้งแต่การเข้าเทียบท่าเรือ การบรรทุก การขนถ่าย การเคลื่อนย้ายสินค้ามายัง ไปจาก ขึ้นหรือลงจากเรือเดินทะเล จึงเป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อให้ดำเนินการส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้า ที่ต่อเนื่องจากการบริการของเรือเดินทะเลตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ดำเนินไปและเสร็จสิ้นลงไป โดยที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายเป็น ซี.ไอ.เอฟ ท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ขายจึงมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและชำระค่าภาระวางล่วงหน้า โดยมีตัวแทนในประเทศเยอรมันเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทเอ็น วาย เค ไลน์ จำกัด ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าทั้งหมดด้วยเรือเปกาซุส ไดมอนด์ วี.85 ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการที่เรือลำดังกล่าวบรรทุกสินค้ามาส่งมอบขึ้นที่ท่าเรือที่บมจ.นามยง เทอร์มินัล ให้บริการ เป็นการนำมาส่งมอบไว้แก่บมจ.นามยง เทอร์มินัล เพื่อให้กทม.ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขาย มารับการส่งมอบไปจากบมจ.นามยง เทอร์มินัล
ทั้งนี้ บมจ.นามยง เทอร์มินัล จะทราบล่วงหน้าว่า กทม.อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งแล้วก็ต่อเมื่อกทม.หรือตัวแทนของกทม.นำเอกสารเกี่ยวกับการรับสินค้า เช่น ใบตราส่ง ใบส่งมอบ และใบขนสินค้าขาเข้าที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาติดต่อขอรับสินค้าจาบมจ.นามยง เทอร์มินัล พร้อมกับการชำระค่าภาระต่างๆ แล้วเท่านั้น บมจ.นามยง เทอร์มินัล จึงจะส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่กทม.หรือตัวแทนของกทม.ได้ และพร้อมกันนั้นก็จะต้องชำระค่าภาระต่างๆ แก่บมจ.นามยง เทอร์มินัล ด้วย
ข้อเท็จจริงในทางคดีปรากฏชัดเจนว่า แม้กทม.เป็นผู้ซื้อ แต่กทม.ก็มิได้ไปติดต่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับการขนส่ง และดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อจะได้ขอรับสินค้าทั้งหมดไปจากบมจ.นามยง เทอร์มินัล พร้อมกับการชำระค่าภาระต่างๆ ทั้งไม่ปรากฏว่า ในระหว่างเวลาที่ล่วงมาบมจ.นามยง เทอร์มินัล ได้ดำเนินการติดต่อกทม.หรือแจ้งกทม.มาขอรับสินค้าไป ดังนั้น เมื่อกทม.ยังมิได้แสดงเจตนาต่อบมจ.นามยง เทอร์มินัล เพื่อขอรับสินค้าที่บมจ.นามยง เทอร์มินัล เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแล กทม.จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระฝากสินค้าขาเข้าตามที่บมจ.นามยง เทอร์มินัล เรียกร้อง ทั้งไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของบมจ.นามยง เทอร์มินัล ขาดอายุความ 2 ปีแล้ว เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง พิพากษายืน โดยศาลนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 กทม.แจ้งบมจ.นามยง เทอร์มินัล ขอนำรถดับเพลิงจำนวน 139 คันที่อยู่ในความครอบครองของบมจ.นามยง เทอร์มินัล ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยอ้างว่ารถดังกล่าวเป็นยุทธภัณฑ์ จึงได้รับการยกเว้นอากรตามกฎหมาย ต่อมากทม.ได้ดำเนินการพิธีการศุลกากร และตัวแทนของกทม.ได้นำสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 มาแสดงต่อตัวแทนของบมจ.นามยง เทอร์มินัล พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมถือได้ว่า กทม.ได้แสดงเจตนาที่สมบูรณ์ เพื่อขอรับรถดับเพลิงที่บมจ.นามยง เทอร์มินัล เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแล กทม.มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระต่างๆ แก่บมจ.นามยง เทอร์มินัล ก่อนจึงจะสามารถนำรถดับเพลิงที่ขอออกไปจากท่าเรือ แต่กทม.กลับเพิกเฉยไม่นำพาต่อหน้าที่ตามกฎหมาย
ดังนั้นใบวันที่ 31 มีนาคม 2560 บมจ.นามยง เทอร์มินัล จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาระฝากรถดับเพลิง เพื่อนำรถดับเพลิงออกไปจากท่าเรือภายในวันที่ 20 เมษายน 2560 แต่กทม.เพิกเฉย
ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ทนายความรู้มอบอำนาจได้ทวงถามเอาจากกทม.อีกครั้งหนึ่ง โดยแจ้งค่าภาระฝากทรัพย์ทั้งสิน 1,017,074,225 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณภาระสิ้นสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน กทม.ได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ยังคงเพิกเฉย
กทม.จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระต่างๆแก่บมจ.นามยง เทอร์มินัล อันเนื่องมาจากการนำเข้ารถดับเพลิงจำนวน 139 คัน ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักรวม 8,499 ตัน คำนวณตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันฟ้องคดีนี้ตามประกาศท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องกำหนดอัตราค่าภาระของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ดังต่อไปนี้
- ค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้าอัตรา 35 บาทต่อตัน คิดเป็นเงิน 297,465 บาท
- ค่าภาระยกขนสินขาเพิ่มเติมขาเข้าที่มิได้นำออกนอกเขตศุลกากรเกินกว่า 30 วัน นับถัดจากวันเสร็จสิ้นการขนถ่ายเรือ คิดเพิ่มขึ้นอีก 26 บาทต่อตัน คิดเป็นเงิน 220,974 บาท
- ค่าภาระฝากสินค้าเป็นค่าเก็บรักษาสินค้าที่มิได้นำออกนอกเขตศุลกากร ได้รับยกเว้นค่าภาระฝากสินค้า 3 วันนับถัดจากวันเสร็จสิ้นการขนถ่ายของเรือ ประเภทยานพาหนะที่ไม่บรรจุหีบห่อ วันที่ 1-7, วันที่ 8-15 และตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไปคิดในอัตรา 10 บาท, 20 บาท และ 30 บาท ต่อตันต่อวัน ตามลำดับโดยเริ่มต้นคิดตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ดังนี้
วันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ 2550 คิดอัตรา 10 บาทต่อตันต่อวัน เป็นเงินจำนวน 594,930 บาท
วันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2550 คิดอัตรา 20 บาทต่อตันต่อวัน เป็นเงินจำนวน 1,189,860 บาท
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันฟ้องคดีนี้คิดเป็น 3,806 วัน ในอัตรา 30 บาทต่อตันต่อวัน เป็นเงินจำนวน 970,415,820 บาท
รวมเป็นค่าภาระทั้งสิ้นจำนวน 972,719,049 บาท เมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีกจำนวน 68,090,333 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,040,809,382 บาท
เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องบมจ.นามยง เทอร์มินัล ในคดีก่อนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากบมจ.นามยง เทอร์มินัล ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้กทม.ชำระหนี้เท่ากับบมจ.นามยง เทอร์มินัล ยังไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเอง แต่ตามข้อเท็จจริงดังกราบเรียนข้างต้นว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน กทม.ได้มีหนังสือถึงบมจ.นามยง เทอร์มินัล ขอนำรถดับเพลิงที่อยู่ในความครอบครองของบมจ.นามยง เทอร์มินัล ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งกทม.ได้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรครบถ้วนแล้ว จึงเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ประกอบกับบมจ.นามยง เทอร์มินัล ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ค่าภาระต่างๆ จำนวนทั้งสิน 1,040,809,382 บาทได้
นอกจากนี้การที่รถดับเพลิงนำเข้าค้างอยู่ในพื้นที่ท่าเทียบเรือ กทม.ยังคงต้องรับผิดชำระค่าฝากรถดับเพลิงทั้งหมดเป็นรายวันในอัตราวันละ 254,970 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มวันละ 17,847.90 รวมเป็นเงิน 272,817.90 บาทต่อวัน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องนี้เป็นต้นไป อีกโสดหนึ่งด้วยจึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง