เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง:ถึงเวลาปรับวิธีส่งเงินออม ‘กอช.’ แบบง่าย ไม่ซับซ้อน
"เคยทดสอบ โดยให้ผู้ช่วยส่วนตัวลองไปสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ค่อยสนใจอธิบาย หรือเข้าใจรายละเอียด นอกเสียจากแจกแผ่นพับให้กลับมาศึกษา จึงไม่มั่นใจ ที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ไม่อยากอธิบาย หรือไม่เข้าใจสิ่งที่จะอธิบาย หรือขาดแรงจูงใจให้ทำหน้าที่เหมือนการขายประกัน"
การลาออกของ ‘นายสมพร จิตเป็นธม’ จากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีผลตั้งแต่ 4 ส.ค. 2560 แม้จะให้เหตุผลในการลาออกครั้งนี้ว่า เกิดจากปัญหาสุขภาพ แต่หลายฝ่ายคาดว่า อาจเกิดจากความกดดันในการทำงานที่ไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออมภาคบังคับได้
โดยปัจจุบันพบว่า กอช.มีสมาชิกเพียง 5.37 แสนคน จากเป้าหมาย 1 ล้านคน โดยสมาชิก 3 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร 54.9% รองลงมา ไม่ได้ประกอบอาชีพ 19.3% ค้าขาย 10.9%
มีภูมิลำเนาในภาคอีสานมากที่สุด 45.5% รองลงมาภาคกลาง 22.5% ภาคเหนือ 12.5% ภาคใต้ 10% ภาคตะวันออก 5.3% และภาคตะวันตก 4.2%
ประกอบกับที่ผ่านมามีสมาชิก กอช.ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำในขณะนี้ จึงเกิดความไม่มั่นใจการนำเงินเก็บออม
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า แม้จะไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงการลาออกของนายสมพร จิตเป็นธม จากตำแหน่งเลขาธิการ กอช. แต่พอทราบ กอช. ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างอยู่มาก เท่าที่ได้ลงพื้นที่ไปในชนบทและพูดคุยกับชาวบ้าน พบมีชาวบ้านรู้จัก กอช.น้อยมาก หรือเกือบจะไม่มีใครรู้จักเลย เวลาถามชาวบ้าน หลายคนตกใจว่า มีกองทุนอย่างนี้ด้วยหรือ ซึ่งเมื่อบอกเล่ารายละเอียดให้ฟัง ต่างบอกว่า กอช.ดี แต่ไม่เคยรู้เรื่อง
“ชาวบ้านเห็นด้วยกับ กอช. แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ ดังนั้น กอช.มีปัญหาเข้าใจยาก เพราะระบบค่อนข้างซับซ้อน”
ความซับซ้อนที่ว่านั้น ดร.เจิมศักดิ์ ขยายความว่า หากคนออม รัฐจะสมทบ แต่จะสมทบไม่เท่ากันในแต่ละช่วงอายุ โดยมีจำนวนสูงสุดที่รัฐจะสมทบให้ ขณะเดียวกันต้องพึ่งพิงธนาคารของรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน
ดร.เจิมศักดิ์ ได้เคยทดสอบ โดยให้ผู้ช่วยส่วนตัวลองไปสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ค่อยสนใจอธิบาย หรือเข้าใจรายละเอียด นอกเสียจากแจกแผ่นพับให้กลับมาศึกษา จึงไม่มั่นใจ ที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ไม่อยากอธิบาย หรือไม่เข้าใจสิ่งที่จะอธิบาย หรือขาดแรงจูงใจให้ทำหน้าที่เหมือนการขายประกัน ขณะที่ชาวบ้านต้องเดินทางเข้าไปธนาคารในเมืองเพื่อฝากเงินออมเป็นระยะ นั่นหมายถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงไม่ค่อยคุ้มค่า
ดังนั้น เขาเห็นว่า จำเป็นต้องปรับปรุงระบบของ กอช.ครั้งใหญ่ อาจต้องทำอย่างไรให้การออมของ กอช.เชื่อมโยงกับระบบการออมในหมู่บ้านให้เป็นหน่วยรวบรวมเงิน
"ชาวบ้านไม่คุ้นเคยกับอินเตอร์เน็ต ถ้าจะให้ชาวบ้านโอนเงินออมผ่านอินเตอร์เน็ตคงลำบาก ฉะนั้น ยิ่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบง่าย ให้มีค่าโสหุ้ย (ค่าใช้จ่ายจิปาถะ) น้อยที่สุด และเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ผมค่อนข้างเห็นใจเลขาธิการ กอช. เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจ”
พร้อมกันนี้ ดร.เจิมศักดิ์ แนะนำให้ธนาคารควรลงพื้นที่ตั้งจุดรับเงินออมทุกวันนัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของชาวบ้าน แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะธนาคารไม่ได้มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับ กอช. เป็นเพียง "งานฝาก" และแถมเงินให้หัวละ 5 บาท จึงไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ดังนั้น กอช.ต้องปรับปรุงระบบใหม่ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้นด้วย
เมื่อถามถึงประเด็นคนไทยไม่ได้มีพฤติกรรมการออม ประเด็นนี้ ดร.เจิมศักดิ์ บอกว่า คนไทยมักคิดว่า มีเงินเหลือจึงออม และเมื่อถามต่อว่า ทำไมไม่ออม ได้รับคำตอบ ไม่พอใช้ แล้วจะนำเงินที่ไหนไปออม
“สมการในชีวิตของชาวบ้าน คือ ฉันจะใช้อย่างไร ฉันมีเงินเท่าไหร่ นำมาลบกัน ถ้าจะใช้มากกว่าเงินที่มีจะติดลบ จึงต้องกู้ ทำให้การออมติดลบ หมายถึง คนไทยมักยึดการใช้เป็นหลัก ไม่พอก็กู้ ซึ่งชาวบ้านไม่ออมแล้วค่อยใช้ แต่กลับใช้ให้เหลือจึงออม ดังนั้นจึงไม่มีวันได้ออม”
เขาเสนออีกว่า แม้ชาวบ้านจะไม่ออมภาคบังคับ แต่ยังมีการออมลักษณะพิเศษอีก คือการให้ชาวบ้านต้นไม้ หรือปลูกไม้ยืนต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง ดังนั้นในระหว่างปรับปรุง กอช. นั้น รัฐอาจต้องส่งเสริมการออมให้แก่ชาวบ้านในหลายๆ วิธีด้วย
ออมผ่านรายได้ยาก เสนอออมผ่านรายจ่าย
ทางเลือกอีกวิธีหนึ่ง อาจจะดูตื่นเต้น นักวิชาการ ม.รังสิต บอกว่า ให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้า จากเดิม 7% เป็น 10% โดยบันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยนำส่วนต่าง 3% เก็บเป็นเงินออมให้แก่ผู้ซื้อ เมื่ออายุ 60 ปี ได้เงินออมจำนวนหนึ่งแล้ว รัฐอาจจะสมทบเพิ่มเข้าไปได้
วิธีการออมแบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบภาคบังคับ โดยผ่านระบบภาษี ทั้งนี้ อาจไม่ใช้คำว่า เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ให้ใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% + เงินออม 3% เพราะฉะนั้นคนจับจ่ายใช้สอย เท่ากับว่า กำลังถูกบังคับออม ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งออมมาก เรียกว่า เมื่อออมผ่านรายได้ยาก จำเป็นต้องออมผ่านรายจ่าย
เมื่อถามถึงเศรษฐกิจในปัจจุบันเอื้อให้เกิดการออมน้อยลงหรือไม่ ดร.เจิมศักดิ์ มองว่า จะเอื้อหรือไม่เอื้อนั้น คิดว่า จำเป็นต้องออม อย่าไปคิดว่า หากเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ต้องออม เพราะการออมช่วยตัวเราเองในวัยสูงอายุ
“สังคมสูงวัยที่เราพูดกันไม่ใช่สังคมคนแก่ แต่เป็นสังคมคนไม่แก่ แต่จะต้องแก่ในอนาคต ฉะนั้นต้องรีบออมตั้งแต่ตอนนี้ จะหวังพึ่งพิงรัฐไม่ได้ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจจะฝืดเคืองหรือไม่ เชื่อว่าเป็นหน้าที่จะต้องออมในหลากหลายวิธี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”
ดร.เจิมศักดิ์ เน้นย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า กอช.ต้องรีบปรับปรุงระบบ ทำให้การออมง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน และหาวิธีอื่นๆ เพราะจะหวังพึ่งพิง 3 ธนาคาร ไม่เพียงพอเเล้ววันนี้