ภาคปชช. จี้สภาฯ คลอดพ.ร.บ.องค์กรอิสระก่อนวันคุ้มครองผู้บริโภค 18 เม.ย.
ผู้บริโภคจี้วุฒิสภาเร่งพ.ร.บ.องค์กรอิสระฯ ประชดไม่ทัน 18 เม.ย. ตั้งเองหลังรอ 15 ปี “ผู้บริหาร 96.5 MHz -.ใบตองแห้ง” วิพากษ์สื่อหลักถูกทุนครอบไม่ปกป้องสิทธิผู้บริโภค หวั่นโฆษณาวชช.เกินจริง
วันที่ 12 มี.ค. 55 สหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค (สอบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเสวนา “ 8 นายกรัฐมนตรี...หลายรัฐมนตรี...แต่ยังไม่มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องจัดตั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามม. 61
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศร่วม 12.208 รายชื่อ เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ศ. 2540 และ 2550 ซึ่งผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อ 29 ก.ย. 54 และวุฒิสภามีมติเสียงข้างมากผ่านวาระที่ 3 วันที่ 31 ม.ค. 55 แต่ขณะนี้ยังค้างอยู่ที่การบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคกังวลว่าเมื่อใดจะผ่านการพิจารณา เพราะรอตั้งแต่รธน. กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 51
“วันนี้เราจึงยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาเร่งรัดพิจารณาร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว เพราะตลอดเวลา 15 ปี ตั้งแต่สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มผู้บริโภคหลายรายที่ต้องรับชะตากรรมกับสินค้าไม่ได้คุณภาพ”
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า หากวันที่ 18 เม.ย. 55 สภาผู้แทนราษฎรยังไม่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศจะจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนเองในวันที่ 30 เม.ย. 55 ซึ่งเป็นวันคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคไทยโดยมีคณะกรรมการ 15 คน ได้แก่ ตัวแทนสมาชิกแต่ละภาค 8 คนและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน
“สาเหตุที่รัฐบาลไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น เพราะคิดว่าเป็นกฎหมายฉบับเอ็นจีโอ ตรวจสอบการทำงานไม่ได้ ทั้งที่เกิดขึ้นตามรธน. องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นต้องหลุดพ้นจากการแทรกแซงกลุ่มนายทุน ระบบราชการ และการเมือง”
ขณะที่นายอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) คอลัมน์นิสต์เว็บไซค์ประชาไท กล่าวว่า ปัจจุบันการริดรอนสิทธิผู้บริโภคแฝงมาในรูปแบบของโฆษณาทางสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่นประเภทวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี เช่น ยาสมุนไพร เครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากนี้สิ่งที่น่ากลัว คือ บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ใช้เทคนิคประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์องค์กรผ่านการซื้อพื้นที่สื่อ
นายอธึกกิต ยังกล่าวว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเม็ดเงินมหาศาล สำหรับนักการเมือง ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกใส่ใจจนล่าช้ามาถึง 15 ปี ผ่านมา 8 นายกรัฐมนตรี
ด้านนางอำมร บรรจง ผู้บริหารสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิร์ซ อสมท. กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐเห็นความสำคัญของสิทธิผู้บริโภคน้อยลง รวมถึงสื่อมวลชนไม่ใส่ใจเผยแพร่ข่าวสารเตือนภัยจากสินค้าหลอกลวง เนื่องจากติดในระบบทุน ส่งผลให้ปัจจุบันมีการโฆษณาเกินจริงในสถานีวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อมีการแพร่ภาพออกอากาศบ่อยครั้งทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าสินค้าเหล่านั้นมีคุณภาพ ทั้งที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากประชาชนในต่างจังหวัดไม่มีความรู้ ตนจึงคาดหวังให้กสทช. เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชน
ทั้งนี้ น.ส.สารี ยังเปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงการโฆษณาเกินจริงทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือฟรีทีวีว่า ได้ยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งกำกับดูแลผ่านผู้ผลิตรายการอย่างใกล้ชิด ซึ่งคงต้องรอให้แผนแม่บททั้ง 3 ฉบับเสร็จเรียบร้อย กระบวนการติดตามแก้ไขจึงจะดำเนินต่อไปเร็วขึ้น พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจทางกฏหมายอยู่ดูแลด้วย ส่วนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจะพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้เท่าทันสื่อเพื่อป้องกันตนเอง