รู้จักสกลนคร ผ่านหนังสือ เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี
"น่าแปลกที่ทางราชการกลับมองไม่เห็นจึงสร้างปัญหาซ้อนปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรมชลประทานไปทำประตูควบคุมน้ำ ในลำน้ำก่ำที่เป็นเส้นทางจากหนองหารลงแม่น้ำโขง ได้ประตูควบคุมน้ำสุรัสวดีอีกถึง 4 ประตู เป็นเหตุให้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากหนองหารยิ่งยากและซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะเกิดน้ำท่วมขังที่นาและบ้านเรือนประชาชนในสองฝั่งลำน้ำก่ำในฤดูฝน"
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่จังหวัดสกลนคร ที่ถือว่า หนักสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งเกิดมาจากอิทธิพลของพายุ “เซินกา” (Sonca) ในพื้นที่ที่ตกตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2560 วัดปริมาณฝนสูงสุดในเขตเมืองสกลนครมากถึง 130 มิลลิเมตร ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 ก.ค. 2560 รวมปริมาณฝนตกสะสมมากถึง 245 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ล้วนมีน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% ของความจุอ่างล้นสปิลเวย์ไหลสู่พื้นที่ด้านล่าง (อ่านประกอบ:กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก /รพ.สกลนคร ให้บริการตามปกติห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง-สนามบินปิดถึง 3 ทุ่มคืนนี้)
ขณะที่น้ำในทะเลสาบหนองหาร ก็มีปริมาณน้ำมากเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่และบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร
ช่วงเวลาดังกล่าว กรมชลประทาน ออกมาระบุุถึง เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมสู่ "หนองหาร" และระบายออกทาง "ลำน้ำก่ำ" เพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุดของลำนำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
พลันที่พี่น้องชาวสกลนครเผชิญวิกฤติจากภัยน้ำท่วม มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ "เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี" แต่งโดย ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ รัชนีบูล ตังคณะสิงห์ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เมื่อปี 2556 ปรากฎบนหน้าเฟชบุค ผู้เขียนไม่รีรอ กดสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบ e-books หรือไฟล์ PDF ในราคา 140 บาทมาอ่าน
บางช่วงบางตอนของหนังสือหนากว่า 142 หน้า เราได้เห็นถึงสภาพธรรมชาติของพื้นที่นี้เป็นอย่างดี เช่น
หนองหาร แห่งสกลนคร
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ระบุว่า หนองหารหลวง สกลนคร คือ หนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ พื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพที่เอื้อต่อการตั้งบ้านเมืองและมีร่องรอยการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคเหล็กตอนปลาย จนมาถึงช่วงเวลาร่วมสมัยในวัฒนธรรมเขมรโบราณ จึงมีการวางผังเมืองในเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีปราสาทสำคัญๆหลายแห่งอยู่ริม หนองหาร
สภาพธรรมชาติหนองหาร หน้าแล้งเริ่มตั้งแต่ราวเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อน้ำแห้งชายหนองหารจะกลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่เต็มไปด้วย วัว ควาย ม้า และเป็ดไล่ทุ่งของชาวบ้าน ช่วงแล้งจะเหลือพื้นน้ำ ไม่เกิน 20,000 ไร่ โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหาร ก็กลายเป็นหนองเล็ก หนองน้อย หรือหนองใหญ่จำนวนหนึ่ง
แต่พอเข้าฤดูฝน ระดับน้ำหนองหารจะเริ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป ถึงเดือนตุลาคม พื้นที่น้ำอาจกินบริเวณถึง 60,000 ไร่ และหากปีใดน้ำมากอาจถึง 100,000 ไร่
หนองหารช่วงนี้จึงเป็นสวรรค์ของปลาหลากสายพันธุ์ ทั้งปลาประจำถิ่นและปลาจากแม่น้ำโขงที่เข้ามาหากิน ผสมพันธุ์ และวางไข่ วิถีชีวิตคนหนองหาร จึงเป็นทั้งชาวนาและชาวประมง หากปีใดน้ำมาก นาที่ชายขอบหนองที่เรียกว่า "นาทาม" เสียหาย แต่ก็จับปลาได้มากมาทดแทน เหล่านี้เป็นแบบวิถีชีวิตปกติของคนที่อาศัยตามแหล่งน้ำใหญ่
สำหรับชาวหนองหารเมื่อระดับน้ำลดลงในเดือนตุลาคม ก็จะเริ่มปลูกผักตามฤดูกาล ไล่ลงไปตามพื่้นที่น้ำลดไปเรื่อยๆ จนสิ้นฤดูหนาว สภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คนและชีวิตสัตว์รายรอบหนองหารดำเนินอย่างนี้ตลอดเรื่อยมา
ในหนังสือเล่มนี้ ยังระบุถึงการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2484 ยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จนทำให้ผู้คนรอบหนองหารต้องออกมาเรียกร้องทวงสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนคืนจากราชการ เพราะกลายเป็น "ผู้บุกรุกที่หลวง" แทนที่จะมองเขาเหล่านั้นคือ "ผู้ถูกหลวงรุกที่"
ความน่าสนใจบทแรกๆ ที่แทบวางไม่ลง เมื่อประกบภาพน้ำท่วมปี 2560 เข้ามาประกอบ
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ เล่าว่า หลังออกพระราชกฤษฎีกาแล้ว กรมประมงจึงเริ่มสร้างประตูควบคุมน้ำถึงสองครั้ง เพื่อการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลา ครั้งแรกสร้างประตูกั้นน้ำ ชื่อ "คันแววพยัคฆ์" เมื่อปี 2496 ซึ่งทำให้ระบบนิเวศหนองหาร เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น หลังจากสร้างประตูควบคุมน้ำชื่อ "สุรัสวดี" แทน เพราะมีการกักระดับการเก็บน้ำให้สูงขึ้น
จนราวปี 2535 ปลาธรรมชาติจากแม่น้ำโขงที่เคยขึ้นลงตาม "ลำน้ำก่ำ" ก็หายไปจนเกือบหมด
สำหรับสิ่งที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากการเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ คือการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดิบมาทำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค เพราะได้น้ำต้นทุนที่ถูก รวมทั้งได้น้ำใช้เพื่อการเกษตรของชุมชนรอบหนองหาร แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้พันธุ์ปลาจากน้ำโขงหายไปเกือบหมด .....
ทั้งยังเกิดวัชพืชตกค้างและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ว่า น้ำในหนองหารน่าเสียมากขึ้นทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณในการจัดการมากมาย แต่ก็ไม่ได้ทันกับการขยายตัวของวัชพืช โรคภัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชน และวัวควายรอบหนองหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ ทั้งยังมีสาหร่ายพิษที่ทำให้เกิดมะเร็งในตับ หรือมะเร็'ในถุงน้ำดี ซึ่งสถิติผู้ป่วยรอบหนองหารเคยติดอันดับสูงสุดในภูมิภาคเอเชียมาแล้ว
ต่อมา เมื่อพ.ศ.2529 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครในสมัยนั้นได้นำปัญหาดังกล่าวไปสู่รัฐสภาและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพน้ำจากการปล่อยน้ำเสียลงหนองหาร โดยไม่มีการบำบัด รัฐบาลได้สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจากชุมชนในเทศบาลเมืองสกลนคร แต่ก็ทำได้เพียง 70 เปอร์เซนต์ของน้ำเสียทั้งหมด และเป็นเพียงแก้ที่ปลายเหตุ เพราะชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา บางชุมชนไปตั้งอยู่นอกระบบบำบัด และขาดการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะหรือท่อระบายน้ำสาธารณะ
หนองหาร แห่งสกลนคร หน้า 11 ยังชี้ให้เห็นถึงการแก้ปัญหาน้ำเสีย ที่ต้องแลกมาด้วยปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองช่วงฝนตกหนัก รวมถึงการทำประตูควบคุมน้ำที่หนองหาร
"น่าแปลกที่ทางราชการกลับมองไม่เห็นจึงสร้างปัญหาซ้อนปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรมชลประทานไปทำประตูควบคุมน้ำ ในลำน้ำก่ำที่เป็นเส้นทางจากหนองหารลงแม่น้ำโขง ได้ประตูควบคุมน้ำสุรัสวดีอีกถึง 4 ประตู เป็นเหตุให้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากหนองหารยิ่งยากและซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะเกิดน้ำท่วมขังที่นาและบ้านเรือนประชาชนในสองฝั่งลำน้ำก่ำในฤดูฝน"
ใครอยากเข้าใจรากเหง้าและความเป็นมาของบ้านเมืองขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในเขตเมืองอีสานเหนือ "เมืองหนองหารหลวง" ที่ต่อมาได้กลายเป็นเมืองสกลนคร รวมถึงบทเรียนจากหนองหาร หนองน้ำขนาดใหญ่ ที่มนุษย์จะปรับตัวเพื่อให้เข้ากับธรรมชาติและไม่ฝืนหรือขัดขืนธรรมชาติ แต่หนองหารวันนี้ถูกเปลี่ยน ถูกปรับ ถูกขัดขืนให้กลายเป็นแอ่งน้ำเพื่อรองรับน้ำเพียงอย่างเดียว
หนังสือที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำที่หน่วยงานภาครัฐควรหาซื้อมาอ่าน
อ่านประกอบ:
กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก
รพ.สกลนคร ให้บริการตามปกติห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง-สนามบินปิดถึง 3 ทุ่มคืนนี้