มูลนิธิเอไอพีพร้อมเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยความเร็ว ยื่นข้อร้องเรียน ปชช.จากผลกระทบการขับรถเร็ว ผ่าน“โครงการฟ้องป้าเปีย” ต่อผู้ว่าฯ กทม.- รองผบ.ชน. หลังเปิดรณรงค์ 2 เดือน คนไทยแห่เสนอความเห็นทะลุล้าน ขณะที่ความเห็นร่วม เคาะ “เขตบางซื่อ” เป็นพื้นที่นำร่องจำกัดความเร็ว ชงนครบาล ออกข้อบังคับ กำหนดความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.ในเขตชุมชนหนาแน่น พร้อมเตรียมประกาศใช้ภายในระยะเวลา 2 เดือน
วันที่ 25 ก.ค.2560 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยความเร็ว นำเสนอผลการรณรงค์ โครงการ “ฟ้องป้าเปีย ช้าลงหน่อย ชีวิตปลอดภัย” (Slow Down to Save Lives) ต่อนายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พ.ต.อ. ชัยกฤต โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการกองบัญชาการ 5 บก.จร.ในฐานะผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายหลังจากเปิดระดมความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ ด้วยการติดแฮชเทค “ #ฟ้องป้าเปีย” ในช่องทางของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.-18 ก.ค. 2560 รวมระยะเวลา 2 เดือน
น.ส.อรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเอไอพี กล่าวว่า หลังจากการรณรงค์ มีประชาชนให้การตอบรับจำนวนมาก โดยคลิปวีดีโอที่ผลิตเพื่อการรณรงค์มียอดเข้าดูกว่า 1 ล้านครั้ง นอกจากนี้ประชาชนยังเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น จากหลากหลายกลุ่มทั้งจากผู้ใช้รถ ใช้ถนน รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชัดเจนว่าการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ แม้ว่าจะคิดว่ากรุงเทพฯ รถติดไม่น่าจะที่เร่งความเร็วได้ แต่มีสถิติยืนยันว่า การใช้ความเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เช่น บริเวณตลาด หรือ โรงเรียน สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับประชาชนในบริเวณนั้น โดยมูลนิธิฯ ได้นำเสนอข้อมูลจากการรณรงค์ส่งต่อให้กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และ กองบังคับการตำรวจจราจร ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อเลือกพื้นที่นำร่องลดความเร็วในเขตกรุงเทพฯ
“มูลนิธิเอไอพีได้ลงสํารวจพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ใน 2 พื้นที่ คือ บริเวณหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ และ บริเวณหน้าตลาดมิ่งขวัญ บ้านนา เขตบางซื่อ ซึ่งจากการลงสํารวจ ได้ใช้คู่มือแนวทางการกําหนดความเร็วจํากัดในเขตเมืองและเทศบาลขององค์การอนามัยโลก ( WHO ) พบว่า ในเขตโรงเรียนโยธินบูรณะ จําเป็นต้องมีการจำกัดความเร็ว ด้วยการออกข้อบังคับจากทางตํารวจนครบาลสําหรับการกําหนดความเร็วในเขตพื้นที่โรงเรียนและชุมชนหนาแน่น โดยทางมูลนิธิเอไอพี ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ จะเป็นผู้ออกแบบระยะการปักป้ายและการตีเส้นการจราจรที่สามารถลดหรือจํากัดความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่น ป้ายเตือนลดความเร็ว การตีเส้นบนพื้นผิวจราจร เพื่อที่ผู้ขับขี่รถจะได้ทราบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลดความเร็ว” ผู้จัดการมูลนิธิเอไอพี กล่าว
น.ส.อรทัย มั่นใจว่าในพื้นที่บางซื่อ จะประสบความสำเร็จในฐานะพื้นที่นำร่อง เพราะทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน โรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่มีความเห็นพ้องต้องกัน และให้ความร่วมมือที่ดี ดังนั้นผลของการควบคุมความเร็วน่าจะออกมาดี ซึ่งจะมีการอัพเดทผลของการกำจัดความเร็วในพื้นที่ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบต่อไป ขณะที่การจับกุมการใช้ความเร็วบนถนนที่ผ่านมา พบว่า เจ้าหน้าที่ยังขาดอุปกรณ์ในการตรวจจับ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้สามารถยืมมาใช้เพื่อการ สุ่มตรวจจับได้ในแต่ละพื้นที่ด้วย สำหรับโครงการฟ้องป้าเปีย นั้นยังคงจะต้องดำเนินการต่อไป โดยประชาชนทุกคนสามารถฟ้องป้าเปียได้ในทุกจุดทั่วประเทศ
สำหรับการร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชน ผ่าน https://www.facebook.com/fongpapia/, https://twitter.com/fongpapia และ https://www.instagram.com/fongpapia/ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.-18 ก.ค.2560 นั้น มีผู้มีส่วนร่วมกับโครงการผ่านการติดแฮชแทค “#ฟ้องป้าเปีย” จำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยเป็นชาวกรุงเทพฯ 517,068 คน รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา ตามด้วย จ.ชลบุรี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
อีกทั้งทางโครงการฟ้องป้าเปีย ยังได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนกรุงเทพมหานครในเขตพื้นที่ที่มีประชาชนร่วมใช้ถนนกับยานยนต์พบว่ากว่า ร้อยละ 77 มีการเสนอให้มีการจำกัดความเร็วในพื้นที่เขตชุมชนหนาแน่นของกรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่อาทิ เขตพื้นที่บางซื่อ บางโพ สุทธิสาร ห้วยขวาง ดอนเมือง ดินแดง รามคำแหง ลาดพร้าว
ด้านนายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครก็ได้เล็งเห็นว่าปัญหาเรื่องการขับรถเร็วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากนี้กทม.จะลงสำรวจพื้นที่หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ เขตบางซื่อที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อจะเตรียมออกแบบป้ายเตือนและตีเส้นจราจรให้เหมาะสมกับความเร็วที่เราจะกำหนดใช้กันซึ่งคาดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือนก็จะแล้วเสร็จและประกาศเป็นเขตควบคุมความเร็วได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ตนยังอยากฝากถึงประชาชนที่ขับขี่ด้วยว่าเมื่อท่านเห็นป้ายเตือนให้จำกัดความเร็วหรือขับขี่รถผ่านย่านชุมชนหนาแน่น อาทิวัดหรือโรงเรียนท่านควรจะลดความเร็วในการขับขี่ลงเพื่อทุกคนจะได้ใช้ทางที่ปลอดภัยร่วมกันได้
ขณะที่ พ.ต.อ. ชัยกฤต โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการกองบัญชาการ 5 บก.จร.ในฐานะผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุุว่า หลังจากนี้ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมความเร็วในพื้นที่นำร่องหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะเขตบางซื่อให้มีการปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากพื้นที่นำร่องแห่งนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นในเขตกรุงเทพมหานครอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีข้อกฎหมายบังคับตนก็อยากให้ประชาชนทุกคนขับขี่ด้วยการเคารพกฎจราจรและมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมทางด้วย .
อ่านประกอบ:ชวนคนกรุงติดแฮชแท็ก #ฟ้องป้าเปีย ทุกช่องทาง ร้องเรียนปัญหา 'วิ่งรถเร็ว'