สำรวจงานวิจัยไฟใต้เฉียด 600 ชิ้นไร้ผลแก้ปัญหา แถมชาวบ้านรากหญ้าไร้โอกาสพูด!
วงเสวนา สกว.ทบทวนวรรณกรรมสามจังหวัดใต้ พบงานวิจัยมีมากเกือบ 600 ฉบับ แต่มีผลกับการแก้ไขปัญหาจริงน้อยมาก เผยงานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมมีแค่ชิ้นเดียว ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับอิสลามภิวัฒน์เพื่อตอบโจทย์สังคมชายแดนใต้ไม่มีเลย แถมชาวบ้านไม่ค่อยได้มีโอกาสพูด เสนอมิติใหม่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนประชาชนลุกขึ้นมาศึกษาและค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาของตนเอง
ในเวทีวิชาการเรื่อง "สานสันติสุขสามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านงานวิจัย สกว." เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มี.ค.2555 ที่ห้องนราทัศน์ โรงแรมอิมพีเรียล นราธิวาส จ.นราธิวาส ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ช่วงหนึ่งของเวทีได้มีการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีถึง 584 ชิ้น แต่กลับไม่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากเท่าที่ควร
ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ได้ทบทวนวรรณกรรมช่วงปี 2547 ถึงปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดสถานการณ์ก่อความไม่สงบแล้ว พบว่าปริมาณงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ปัตตานีถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ดี เมื่อนำงานวิจัยทั้งหมดที่ศึกษาซึ่งมีมากถึง 584 ชิ้นมาพิจารณา ก็เกิดคำถามว่าองค์ความรู้มากมายจากงานวิจัยเหล่านั้น ตอบโจทย์ปัญหาชายแดนใต้ได้หรือไม่
ทั้งนี้เมื่อแยกแยะงานวิจัยออกเป็นกลุ่มเนื้อหา จะพบว่ามีกลุ่มเนื้อหาหลักๆ ประกอบด้วย
- งานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมมีเพียง 1 ชิ้น ทั้งๆ ที่ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่ส่งผลกับสถานการณ์ในพื้นที่
- งานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ มีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีปัญหานาร้าง ปัญหาที่ดิน และปัญหาเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมากมาย
- งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา แม้จะมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรพหุวัฒนธรรมอย่างจริงจัง
- งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การวิจัยในส่วนนี้ก็มีน้อยเช่นกัน ทั้งๆ ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่มากในพื้นที่
- งานวิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบชีวิตคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับมาเลเซีย และอิสลามภิวัฒน์กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาในเรื่องลักษณะนี้ไม่มีอยู่เลย
- งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเนื้อหาที่ไม่ปรากฏอยู่เลย ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีปัญหาความหวาดระแวงและความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ก็ไม่ค่อยมี
- งานวิจัยที่ให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุรุนแรง เป็นงานวิจัยอีกประเภทหนึ่งที่มีน้อย และสังคมไทยยังไม่รู้เลยว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นใคร ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 8 ปีแล้ว
- งานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นกลุ่มเนื้อหาที่ปรากฏมากที่สุด
คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ
ผศ.แพร กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไม่ได้ส่งผลต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะนักวิชาการที่ทำวิจัยกับหน่วยงานปฏิบัติซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน กล่าวคือหน่วยงานปฏิบัติก็ทำหน้าที่ของตนเองไป ส่วนนักวิชาการก็ทำวิจัยไป ไม่เคยมีการพูดคุยหารือถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าการทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเสียงของประชาชนในงานวิจัยค่อนข้างน้อย ผู้พูดส่วนใหญ่กลับกลายเป็นกลุ่มผู้นำระดับต่างๆ ในท้องถิ่นและนักวิชาการ แต่ไม่ใช่เสียงของชาวบ้านอย่างแท้จริง
แนะเพิ่มบทบาทท้องถิ่น-ส่งเสริม ศก.ชุมชน
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง จากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. กล่าวว่า การวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ Community Based Research (CBR) เป็นปฏิบัติการทางสังคมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วจะนำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคม
"หัวใจของงานวิจัยรูปแบบนี้คือ การผลักดันให้ประชาชนทำวิจัยด้วยตัวเอง ไม่ใช่นักวิชาการไปชี้ แต่ต้องให้ชาวบ้านตระหนักในปัญหาของตัวเอง และคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง"
ผศ.ดร.บัญชร กล่าวต่อว่า การทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านมาในพื้นที่ชายแดนใต้มี 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ วิถีศาสนธรรม เศรษฐกิจชุมชน การจัดการทรัพยากรป่าพรุ และการจัดการทรัพยากรอ่าวปัตตานี ทั้งนี้จากงานวิจัยที่ทำมาสรุปบทเรียนได้ดังนี้
1.ชุมชนมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเองได้ผ่านกระบวนการทางสังคม แต่ต้องมีคนคอยสนับสนุน 2.หลักและวิธีการทางศาสนธรรมมีคุณค่าสูงมากต่อการฟื้นฟูชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในสังคม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้มาก
3.การฟื้นฟูฐานทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ป่าพรุ เป็นการฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างแท้จริง 4.ประมงพื้นบ้านเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น การฟื้นฟูฐานทรัพยากรชายฝั่งและการปกป้องทรัพยากรเหล่านี้โดยชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
5.เศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ 6.กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างพลังให้คนในชุมชนท้องถิ่นจัดการกับชีวิตของตนเอง ก่อให้เกิดสันติสุขระดับพื้นฐาน
สร้างพลังในชุมชน-ลดความหวาดระแวง
"จากการลงพื้นที่ทำงานกับท้องถิ่น เราพบว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้ระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนห่างเหินกันมากขึ้น ไว้วางใจกันลดลง ฉะนั้นทางแก้ปัญหาจึงควรทำงานระดับชุมชนและแก้ปัญหาในระดับชุมชนหมู่บ้านควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทำอยู่ เพราะการทำงานในชุมชนจะทำให้คนคุยกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น และไว้วางใจกันมากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มของสันติสุข"
"ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาว่าปัญหาภาคใต้จะรอให้คนนอกมาบอกว่าต้องทำอย่างไร หรือจะให้คนในท้องถิ่นรวมตัวกัน ลุกขึ้นมาคุยกัน แล้วบอกรัฐว่าจะทำอย่างไร จากนั้นก็ร่วมลงมือแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ" ผศ.ดร.บัญชร กล่าวทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศเวที "สานสันติสุขสามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านงานวิจัย สกว." (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
2 ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)