นักวิชาการหวังสังคมหนุน กม.รับรองเพศ สร้างความเท่าเทียมกลุ่มเพศทางเลือก
นักวิชาการ มธ.หวังสังคมหนุน พ.ร.บ.รับรองเพศ สร้างความเท่าเทียมกลุ่มเพศทางเลือกให้รับสิทธิเหมือนเพศชาย-หญิง
วันที่ 25 ก.ค. 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา เรื่อง สิทธิเพศทางเลือก กับจุดยืนประเทศไทย “สังคม กฎหมาย การทำงาน” เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ในสังคมของเพศทางเลือก และผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับรองเพศ พ.ศ. ...ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สังคมไทยต้องช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยโครงการยกร่างฯ เพื่อเสนอต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเสร็จเเล้ว เเต่ยังไม่ได้ยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากติดปัญหาบางประการ อย่างไรก็ตาม เชื่อจะช่วยส่งเสริมสิทธิในการรับรองเพศเกิดใหม่ โดยไม่ต้องคอยแก้ไขกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่กลุ่มเพศทางเลือกผลักดันฝ่ายเดียว แต่เพศกำเนิดทุกคนต่างหากที่จะช่วยให้เกิดกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเพศทางเลือกในไทยประสบปัญหาในสังคม โดยพบว่ามีปัญหาการใช้คำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของกลุ่มเพศทางเลือกมากเมื่อต้องใช้เอกสาร ยกตัวอย่าง กรณีนก ยลดา สวยยศ มิสอัลคาซ่า ปี 2548 ประสบปัญหาภาพในพาสปอร์ตไม่ตรงกับตัวจริง ขณะไปติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ประกอบการบางแห่งมีนโยบายไม่รับสมัครพนักงานจากกลุ่มเพศทางเลือก จะรับเฉพาะเพศหญิงและชายเท่านั้น ทำให้ขาดโอกาส หรือหากยินดีรับเข้าเป็นพนักงาน แต่โอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานมีน้อย เนื่องจากทัศนคติด้านลบที่ว่า บุคลิกภาพอาจไม่ได้รับการยอมรับ
สุดท้าย กฎหมายไทยไม่รับรองการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มเพศทางเลือก โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 5 ระบุว่า ผู้จะเป็นคู่สมรสชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นเพศหญิงหรือเพศชายโดยกำเนิด ฉะนั้นบุคคลกลุ่มเพศทางเลือกจึงไม่ได้รับการยอมรับ ฉะนั้นหากเป็นเพศชายแปลงเป็นเพศหญิง เลือกใช้ชีวิตคู่กับผู้ชาย ตามกฎหมายปัจจุบันยังถือเป็นเพศชายทั้งคู่ จึงไม่นับเป็นคู่สมรส .