ประยุทธ์– ชัยวัฒน์...กับคำตอบชัดๆ เรื่อง "ปกครองพิเศษ"
สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวที่เรียกเสียงฮือฮา คือการเปิดประเด็นของ "ศูนย์ข่าวอิศรา" และสื่อกระแสหลักบางแขนงว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจกำลังใช้กลไกของสภา ผลักดันร่างกฎหมายปัตตานีมหานคร เพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในลักษณะ "เขตปกครองตนเอง" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
แม้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้จะมีลักษณะคล้ายกับการ "โยนหินถามทาง" แต่ก็สร้างกระแสคึกคักขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่น้อย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่สนับสนุนให้มีเขตปกครองพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ (และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน)
โอกาสนี้ "ทีมข่าวอิศรา" จึงได้นำบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตัวละครสำคัญในบริบทของการจัดการปัญหาภาคใต้ ซึ่งได้แสดงทัศนะต่อข้อเสนอนี้เอาไว้อย่างเผ็ดร้อนระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สโมสรทหารบก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ทว่าก็เป็นบทสัมภาษณ์ที่กอรปด้วยเหตุผลในมุมของเจ้าตัวอันเป็นจุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงอย่างชัดเจนยิ่ง เพื่อให้สังคมได้ทราบถึงท่าทีของเขา ซึ่งก็หมายถึงท่าทีของกองทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มีคำกล่าวล่าสุดบนเวทีวิชาการเรื่อง "สานสันติสุขสามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านงานวิจัย สกว." ที่ จ.นราธิวาส ของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวจักรสำคัญในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.ในอดีต ที่เคยมีบทบาทเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืนในห้วงปี 2548-2549 ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยว่าอาจารย์ชัยวัฒน์ มองความเป็นไปได้ของแนวทาง "ปกครองพิเศษชายแดนใต้" เอาไว้แค่ไหนและอย่างไร
แม้ทัศนะของทั้งคู่จะไม่ใช่ "สัมภาษณ์พิเศษ" ตามชื่อคอลัมน์ แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ก็ได้พยายามถอดความและเก็บประเด็นมาอย่างครบถ้วนมากที่สุด
ประยุทธ์: ชายแดนใต้ปกครองพิเศษอยู่แล้ว
"ผมได้มีโอกาสพบกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ก็ได้ทำความเข้าใจและพูดคุยกันแล้ว ซึ่งไม่ใช่ในลักษณะนั้น (พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ทำนองให้ความสนใจเรื่องปกครองพิเศษถึงขั้นสั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ทำการศึกษา) ท่านบอกว่าไม่ได้มีเจตนาตามนั้น เพียงแต่มีการสอบถาม ก็ตอบไปว่าจะลองศึกษาดู ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลต้องตัดสินใจ"
"สำหรับเรื่องนี้ผมเคยพูดไปแล้วในส่วนของฝ่ายปฏิบัติว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการกระจายอำนาจอยู่แล้ว มีการเลือกตั้งในทุกระดับทั้ง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) และเทศบาล มีเพียงเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่ยังต้องจัดจากส่วนกลางเข้าไปดูแล"
"ส่วนเขตปกครองพิเศษหมายถึง การมีคณะองค์กรและกฎหมายพิเศษในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว มีทั้งคณะทำงานแก้ปัญหา เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในส่วนกฎหมายก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) และกฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457)"
ประชาชนเกิน 99% ไม่เอาด้วย
"ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับประชาชน โดยประชาชนเกิน 99% ไม่มีความต้องการในเรื่องนี้ ลองไปสอบถามประชาชนในพื้นที่ได้ เว้นเสียแต่ว่าถูกบังคับเขาจะตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ประชาชนโดยส่วนรวมแล้วเขาไม่ได้เรียกร้อง และวันนี้การปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ประชาชนพอใจ เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ฝ่ายตรงข้ามพยายามแสวงหาโอกาสเพื่อลดความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและทหารให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นแนวทางการต่อสู้ของเขา"
"ผมในฐานะอยู่ฝ่ายความมั่นคง ถ้าถามมาก็จะตอบว่ายังไม่เห็นด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว เรื่องนี้อันตรายอย่าเพิ่งพูด เพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เรามีการศึกษาพูดคุยไว้หมดแล้ว ซึ่งเราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ทั้งหน่วยงานรัฐ ทหาร และส่วนอื่นๆ สิ่งสำคัญคือเราได้เปิดเวทีชาวบ้าน พูดคุยกันมาโดยตลอด เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร"
เพื่อคนกลุ่มเดียว-ไม่หวังดีต่อชาติ
"คิดง่ายๆ การรวมจาก 4 มาเป็น1 มีปัญหาแน่นอน แต่ละจังหวัดไม่ใช่เล็กๆ ใครจะมาดูแลควบคุม มีปัญหาเยอะแยะไปหมด ผมคิดว่าวันนี้ทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีที่สุด ให้ทั่วถึงโดยใช้ยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจเข้าถึง และพัฒนาในทุกมิติ เข้าไปให้ถึงเขาจริงๆ ตรงกับความต้องการของเขาและทันเวลา ผมคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะแก้ทุกอย่างได้ เชื่อผมเถอะ"
"สิ่งที่เรียกร้องกันมาทุกวันนี้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ได้หวังดีต่อประเทศชาติเท่าไหร่นัก อีกกลุ่มหนึ่งคืออยากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาแต่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริง คนไทยไม่ว่าจะเป็นภาคไหนก็ตามไม่ได้เหมือนที่อื่น คิดแบบสากลก็ไม่ได้ คิดแบบประเทศอื่นก็ไม่ได้ เพราะคนไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะคือชอบอิสระเสรี จนบางครั้งก็ลืมไปว่าต้องมีกฎกติกา"
"ผมเคยเรียนกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงหรือแม้แต่กับนายกรัฐมนตรี เคยพูดไปแล้วว่าคงต้องระมัดระวัง ซึ่งผมคุยตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งและท่านเข้าใจดี เพียงแต่ว่าเราอย่าเพิ่งพูดว่าใช่หรือไม่ใช่ ใช้หรือไม่ใช้ ทำสิ่งปัจจุบันให้ดีที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ มาปรับแก้กัน ไม่ใช่เปลี่ยนวืดวาดๆ แล้วอะไรๆ จะดีขึ้น เป็นไปไม่ได้ ขอให้ระมัดระวังในการแก้ปัญหาภาคใต้ ทุกอย่าง ทุกมิติทั้งในและต่างประเทศ ใครพูดอะไรต้องรับผิดชอบ จำเอาไว้ แต่ในท้ายที่สุดคงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหาและทำความเข้าใจ ซึ่งผมขอยืนหยัดในฝ่ายความมั่นคงว่า เรายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เขตการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"
ชัยวัฒน์: เขตปกครองพิเศษเกิดยากในรัฐบาลแบบนี้
บนเวทีวิชาการเรื่อง "สานสันติสุขสามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านงานวิจัย สกว." ที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค.2555 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "เมื่อเช้าเพื่อนพาไปกินน้ำชาในตัวเมืองนราธิวาส มีคนบอกว่าเป็นข้อดีของสามจังหวัดที่เกิดความรุนแรงเยอะ ผมก็มองหน้าเขาแล้วถามว่าทำไม เขาตอบว่าเมื่อไหร่ที่ความรุนแรงจบลง การทะเลาะเรื่องที่ดิน ป่าไม้จะเกิดขึ้นมาแทน มันจะเปลี่ยนเรื่องไปเลย ซึ่งผมบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน"
"ปัญหาในพื้นที่ แม้จะเป็นปัญหาของพื้นที่ แต่หากเป็นปัญหาระดับชาติ ก็ต้องคิดในระดับชาติด้วย แต่บริบทการแก้ปัญหากับบริบทของปัญหาบางทีมันก็ต่างกัน เช่น เรื่องเขตปกครองพิเศษ มีคนพูดเยอะในเรื่องนี้ หลายคนก็มาถามผม ก็ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่ากรณีนครแม่สอด (เขตปกครองพิเศษแม่สอด จ.ตาก) ถามว่าจะเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่ ผมตอบได้เลยว่ายาก เพราะบริบทของพื้นที่มันแตกต่างกัน แล้วถ้าจะทำเรื่องนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลต้องเข้มแข็งกว่านี้ ถ้ารัฐบาลยังเป็นแบบนี้ก็ยังทำไม่ได้ ถามว่าทำไม คำตอบคือปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้ถูกยกมาแก้อย่างจริงจังจากรัฐบาล ที่ผ่านมาถูกมองในมิติที่ว่าเป็นปัญหาด้านความมั่นคงเป็นหลัก และแก้ไขโดยหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก"
คำตอบของ"ผู้นำ"(ในพื้นที่) อาจไม่ใช่คำตอบเดียวกับ"ชาวบ้าน"
"มีคำถามหลายข้อที่ผมอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วคนในพื้นที่คิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ๆ เช่น คิดอย่างไรเกี่ยวกับการมีทหารในพื้นที่ คิดอย่างไรกับการเปลี่ยนไปใช้ทหารพรานแทนทหารหลักในพื้นที่ หรือคิดอย่างไรกับการแบ่งเขตปกครองพิเศษ ผมคิดว่าเราต้องมีคำตอบพวกนี้ คำตอบที่เป็นเสียงของคนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งน่าจะทำวิจัยเชิงสำรวจอย่างจริงจัง"
"ที่ผ่านมาเวลาไปสอบถามความเห็นคนในพื้นที่ ไม่แน่ใจว่าเป็นความเห็นของคนในพื้นที่จริงๆ หรือเปล่า คำตอบที่ได้จากผู้นำใช่คำตอบเดียวกับที่ชาวบ้านคิดหรือเปล่า หลายๆ ครั้งผมไม่เชื่อว่าเป็นคำตอบที่ชาวบ้านคิดทั้งหมด"
ในตอนท้ายของการแสดงทัศนะ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังเรียกร้องให้มีการวิจัยเรื่องธรรมาภิบาล และว่าหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ควรมีธรรมาภิบาล และต้องตอบให้ได้ว่ามีธรรมาภิบาลแล้วหรือยัง เช่น ตอนนี้ยังแอบใช้ จีที 200 อยู่หรือไม่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขอบคุณ :
1 ภาพประกอบของทั้ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จากอินเทอร์เน็ต แต่นำมาตกแต่งใหม่โดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
2 คุณปัญญา ทิ้วสังวาลย์ ผู้สื่อข่าวสายทหารเครือเนชั่น เอื้อเฟื้อบทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์
3 ถอดความทัศนะของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โดยทีมข่าวอิศรา