นักวิชาการชี้ศก.ไทยครึ่งปีหลังกระเตื้อง สวนทางเอกชน เชื่อซึมยาว
นักเศรษฐศาสตร์ มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังขยายตัว จากการลงทุนภาครัฐ ท่องเที่ยว คาดโต 3.5% ด้านภาคเอกชนชี้ส่งออกไทยซึมยาว เหตุไทยยังพึ่งตลาด ขาดนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 60 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนา “จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง กระเตื้องหรือซึมยาว” ที่ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งถึงเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกมีความไม่แน่นอน ผันผวน ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทย โดยส่งผ่านมาในรูปการค้า การลงทุน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยผันผวนไม่แพ้กัน
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นไปตามแผน คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโต 3.5-3.6% มาจากการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยอีกตัวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำคาดการณ์ไว้ที่ 0.7% หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวถึงการลงทุนภาคเอกชนคาดว่า จะกระเตื้องอยู่ในระดับ 3.2% เนื่องจากการลงทุนด้านเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการส่งออก ส่วนต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนยังค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การส่งออกจะเติบโตประมาณ 5.2% เพิ่มขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมาเนื่องจากการฟื้นตัวขึ้นของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป
“หากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง ในระดับ 3.4% รวมไปถึงหากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจทำให้การเจริญเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว
ด้านดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกระเตื้องขึ้นจากอุปสงค์การส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี ขณะที่ประเทศไทยเอดีบียังคงประมาณการเศรษฐกิจไว้ในระดับเดิมที่ 3.5% ในปี 2560 และ3.6 % ในปี 2561 อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุน เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอนุภูมิภาค โดยการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย
ดร.ลัษมณ กล่าวด้วยว่า การส่งออกไทยกระเตื้องขึ้นมาที่ 5.0% โดยความท้าทายหลักในเชิงนโยบายของไทยคือการลงมือ ถ้าหากรัฐสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็จะโตขึ้นได้อีก ถึงกระนั้น ปัญหาแรงงานซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่ยุคสังคมสู่วัย
"หากไม่อยากให้เศรษฐกิจซึมยาวต้องปรับตัว จึงจำเป็นต้องเน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เราทำช้ามานานแล้ว"
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันมา 20 ปี เชื่อว่า การส่งออกไทยครึ่งปีนี้ยังคงซึมไปอีกหลายสิบปี
"เราจะได้ยินเสมอถึง 2 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา 1. ต้นทุนเรื่องน้ำมัน 2. อัตราแลกเปลี่ยน แต่หากดูข่าวในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา พบว่าเดือน มิถุนายนไทยมีอัตราส่งออก กระโดดไป 11.7% เพราะฉะนั้นคำอธิบายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยจึงใช้ไม่ได้ ส่วนตัวไม่เคยใช้ เวลาที่ผ่านมาในฐานะบริษัทเราสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ ขณะที่กระทรวงการคลังออกมา กระตุ้นตลอดเวลา แบงก์ชาติออกมาบอกว่าต้องประกันความเสี่ยงซึ่งทำได้ แต่หากมีดูดีๆ ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่า หากไม่มีการทำอะไรเลย อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง กระโดดไปตามตลาด ส่วนราคาน้ำมันก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เช่นเดียวกัน วันนี้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ลองเทียบกับช่วงที่แพงกว่านี้ ตัวเลขการส่งออกก็ไม่ได้มากหรือน้อยไปกว่ากัน"
นายพรศิลป์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกซึมต่อไปหลายสิบปีหากไม่ทำสิ่งต่อไป โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เกษตรและอาหาร ที่อธิบายว่าราคาคนซื้อมากกว่า ราคาจะดีขึ้น พอราคาตก คนซื้อน้อยลง กลับกันไปมา กลุ่มที่2 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมวันนี้อยู่ในมือต่างชาติเกือบ 100% เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า โครงสร้างการผลิตเราสูญเสียมา 20 ปี โดยไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ เช่นราคายางที่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน วันนี้เราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบของเราได้ ดังนั้นหากเราไม่ขยับอะไรเลย ไม่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตลาดต้องการ การส่งออกเราก็จะมีตัวเลขแบบนี้ต่อไป คือซึมต่อไปอีกหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี เพราะเราต้องพึ่งตลาด ตลาดเป็นคนสั่ง ถ้าตลาดไม่เอาก็ขายไม่ได้ เราไม่มีอำนาจพอที่จะต่อรองตลาด โครงสร้างของเราไม่เอื้อให้เกิด