ขับเร็วต้นตออุบัติเหตุบนถนนไทย ปี58 พบจับกว่า8 แสนราย
นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนนเผยคนไทยขับเร็วจนชิน ต้นเหตุอุบัติเหตุบนถนนพบสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รุนแรงทุกปี ขณะที่การตรวจจับแตะล้านราย แนะ 5 ยุทธศาสตร์ป้องกัน กำหนดความเร็วตามพื้นที่
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 60 ที่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ มูลนิธิความปลอดภัยทางถนน(ThaiRoad) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุระดับจังหวัด (สอจร.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสถาบันอิศรา จัดโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและรายงานช่าวเชิงวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน
ในช่วงหนึ่ง นายณัฐพงศ์ บุญตอบนักวิจัยอาวุโส มูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทยว่า ปัญหาหลักๆ ที่คนมักเข้าใจคือ เมาเเล้วขับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่งมาจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด แต่หากดูในสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรเนื่องจากความเร็ว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2553-2555 จากนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2552-2556 ระบุว่า จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนคดีอุบัติเหตุจราจรจากการใช้ความเร็วสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น นครราชสีมา(28% ) หนองคาย (28%) เลย (28%) นครพนม (35%) มุกดาหาร (31%)
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า แม้ตัวเลขอัตราคดีอุบัติเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะลดลง แต่หากวิเคราะห์กับกรณีที่ไม่เป็นคดียังพบว่า อุบัติเหตุเนื่องจากความเร็วบนทางหลวงยังคงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยสัดส่วนอุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็ว ในปี 2558 อยู่ที่ 80% สอดคล้องกับสถิติการตรวจจับความเร็วบนทางหลวงระหว่างปี 2551-2558 มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2558 มีผู้ใช้ถนนโดนจับฐานใช้ความเร็วเกินกำหนด 809,341 ราย เพิ่มจากปี 2551 ที่ 161,724 ราย และคาดว่า ในปี 2560 ยอดอาจถึงล้านราย
“อัตราการตรวจจับที่เพิ่มขึ้นในทางหนึ่งสะท้อนถึงการใช้มาตรการที่เข้มข้นและการเพิ่มจุดตรวจจับมากขึ้น ซึ่งในแง่การป้องกันอุบัติเหตุถือว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่คำถามใหญ่คือเหตุใดแนวโน้มของอุบัติเหตุเรื่องจากความเร็วยังคงเพิ่มขึ้น และความรุนแรง และผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุความเร็วก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวตลอดช่วง 5 ปี สะท้อนอะไร”
นายณัฐพงศ์กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยการจัดการความเร็วใน 5 ยุทธศาสตร์ ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำร่างพิมพ์เขียวแนวทางกรจัดการความเร็วเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอให้
1. กำหนดความเร็วจำกัดที่เหมาะสมและเป็นที่รับรู้ของประชาชน
2. ส่งเสริมและสนับสุนการใช้มาตรการวิศวกรรมทางถนนเพื่อการจัดการความเร็ว
3. ส่งเสริมและสนับสุนการบังคับใช้กฎหมายความเร็วที่มีประสิทธิภาพ
4. สร้างจิตสำนึก ความเข้าใจและการรับรู้ของผู้ใช้ถนนต่ออัตรการตายของการใช้ความเร็วเพื่อการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม
5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการจัดการความเร็ว
นายณัฐพงศ์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการจัดการความเร็วของกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กำหนดความเร็วจำกัดของถนนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และติดตั้งป้ายบังคับความเร็ว ต่อเนื่องสองข้างทาง เพื่อให้ข้อมูลการใช้ความเร็วที่ปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่เป็นระยะ และต้องจัดสรรงบประมาณติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติโดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ใช้งาน และสร้างกลไกตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำส่วนแบ่งค่าปรับมาใช้ในการบำรุงรักษา พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานการใช้มาตรฐานด้านวิศวกรรมเพื่อควบคุมความเร็วของผู้ขับขี่โดยเฉพาะในเขตชุมชน