เจอร้องหนัก!ป.ป.ช.ชง ครม.ป้อง ขรก. เบิกจ่ายพยาบาลโดยทุจริต-พบคนใน รพ.ฮั้วเอกชน
เจอร้องเรียนหนัก! ป.ป.ช. ชงข้อเสนอ ครม. ป้องกัน ขรก. อาศัยผลประโยชน์เบิกจ่ายยาโดยทุจริต หลังพบปี’59 มีงบเบิกสูงกว่า 7.1 หมื่นล้าน พบพฤติการณ์ ‘ช็อปปิ้ง-จ่ายยาเกิน’ ฮั้วร่วมบริษัทขายยา ขอให้ตั้งศูนย์รวมข้อมูลจัดซื้อตรงถึงกรมบัญชีกลาง ด้านรองนายกฯ ให้ สธ.-คลัง-สปสช. ดำเนินการแล้ว
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สรุปได้ว่า สืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2545 ใช้งบประมาณ 46,481 ล้านบาท แต่ปี 2559 ใช้งบประมาณ 71,016 ล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมอบหมายให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยมีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน
นายสรรเสริญ กล่าวว่า จากการศึกษาและวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบัญชีกลาง เป็นต้น ได้ข้อมูลว่าระบบการควบคุมการเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาลเพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายปัจจัย และเกี่ยวข้องโยงใยเครือการทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาล และบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา
“พฤติการณ์แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ช็อปปิ้งยา โดยกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ ตระเวนใช้สิทธิตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หลายแห่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อขอรับยาเกินแล้วนำมาขายต่อ กับยิงยา คือ บุลากรในสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาเกิน หรือยาที่ไม่มีความจำเป็นกับผู้ป่วยเพื่อทำยอด และร่วมกับบริษัทจำหน่ายยา มีการจ่ายค่าคอมมิสชั่น การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม หรือการดูงานต่างประเทศ” นายสรรเสริญ กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว เสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเพื่อป้องกันการซื้อยา โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน และต้องนำหลักจริยธรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา รวมกับกฎหมายของ ป.ป.ช. มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้ออย่างเคร่งครัด
เมื่อถามว่า เมื่อ ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีแล้ว มีโรงพยาบาล หรือหน่วยงานรัฐไหนที่ถูกจับตาเพื่อเข้าไปไต่สวนหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวจัดทำขึ้นจากการร้องเรียนเรื่องต่อ ป.ป.ช. ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมาก จึงนำมารวบรวมและสรุปผลเป็นข้อเสนอแนะดังกล่าว
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งหนังสือตอบกลับ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน