กฎหมายเฟ้อยุค คสช.?
ตลอด 3 ปีของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการออกฎหมายใหม่มากถึง 320 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของกฎหมาย 754 ฉบับที่ประกาศใช้อยู่แล้วตลอด 108 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเรามีกฎหมายระดับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้งสิ้น 1,074 ฉบับ แยกเป็น พระราชบัญญัติ 992 ฉบับ พระราชกำหนด 18 ฉบับ และ ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 64 ฉบับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ที่บัญญัติขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ แบ่งได้ดังนี้
1.1 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน โดยกฎหมายเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบต่างกัน เช่น พ.ร.บ. กฎมนเฑียรบาล พระบรมราชโองการ เป็นต้น
1.2 มีงานวิจัยที่พบว่า ตั้งแต่สมัย ร.5 (ร.ศ. 128 หรือ พ.ศ. 2452) จนถึง ปี พ.ศ. 2551 มี พ.ร.บ. ที่ บังคับใช้อยู่ 626 ฉบับ แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขและยกเลิกไปหลายฉบับก็ตาม โดยในงานวิจัยนี้ไม่ปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.ก. และประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติใดๆ (ชาติ ชัยเดชสุริยะ, มิ.ย.2552, บทคัดย่อกฎหมายไทย จาก พระราชบัญญัติ 626 ฉบับ, สนพ.วิภาษา.)
1.3 จากเว๊ปไซต์ของ สนง. กฤษฎีกา ระบุว่าระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 - 2556 มีการตรา พ.ร.บ. 118 ฉบับ และ พ.ร.ก. 10 ฉบับ ดังนั้นเมื่อรวมกับที่มีอยู่ก่อนตามข้อ 1.2 ทำให้มีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. รวมเป็น 754 ฉบับ
1.4 พ.ศ. 2557 ตั้งแต่มี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีการตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ. 248 ฉบับ พ.ร.ก. 8 ฉบับ และ ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 64 ฉบับ รวมเป็น 320 ฉบับ
2. ความพยายามในการปฏิรูป แก้ไข ยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่ผ่านมา เพื่อลดภาระของประชาชนและลดคอร์รัปชันที่เกิดจากการใช้อำนาจและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่
2.1 มีการออก พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 (ส.ค.58) เพื่อให้มีการทบทวน แก้ไขหรือยกเลิก บทบัญญัติของกฎหมายให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควรสอดคล้องกับการดําเนินชีวิตตามกาลสมัยและวิวัฒนาการของเทคโนโลยี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2.2 คณะกรรมการโครงการประชารัฐ ตั้งคณะทำงานโครงการ Regulatory Guillotine ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาเสนอแนะการตัดลด แก้ไข กฎหมายที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็น
2.3 ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (พ.ค. 2560) เพื่อปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่สร้างภาระแก่ประชาชน และปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการเสนอกฎหมายหรือข้อบังคับที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ ในครั้งนี้โครงการ Regulatory Guillotine ได้รับการสานต่อสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าการลงทุน
3. หมายเหตุ
3.1 จากจำนวน พ.ร.บ.ทั้งหมดที่มีอยู่ ทำให้มีการประเมินว่าประเทศไทยน่าจะมีกฎหมายลูก เช่น กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง มากกว่า 2 หมื่นฉบับ และเมื่อนับรวมกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่งจนถึงเทศบัญญัติทุกระดับ จะทำให้เรามีกฎหมายกฎระเบียบมากกว่า 1 แสนฉบับ
3.2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี ร่าง พ.ร.บ. ค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆ 48 ฉบับ และจะมีกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญอีกประมาณ 60 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่อยู่ “ระหว่างการศึกษา” ของหน่วยงานต่างๆ อีก 202 ฉบับที่ยังไม่ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
3.3 เดิม พระราชกำหนด ที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว จะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นพระราชบัญญัติ แต่ภายหลังมิได้ทำเช่นนั้นคือยังคงเรียกเป็นพระราชกำหนดดังเดิม และปัจจุบันยังมีการเรียก “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” (พ.ร.ป.) เพิ่มขึ้นมาอีก
3.4 มีข้อสังเกตุว่า อาจยังมี พ.ร.บ. จำนวนหนึ่งที่มิได้ถูกยกเลิก แต่ไม่เป็นที่นิยมนำมาบังคับใช้จึงไม่ถูกบันทึกข้อมูลไว้ และมีบางกรณีที่ออก พ.ร.บ. หลายฉบับแต่มีผลบังคับใช้เกี่ยวเนื่องในกฎหมายเดียว เช่น กรณี พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ที่มีการออก พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขรวม 17 ฉบับ หรือมีกรณีที่ออก พ.ร.บ. ใหม่พร้อมกับยกเลิกกฎหมายเก่าหลายฉบับก็มี ดังนั้นการนับจำนวนกฎหมายจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิธีการของผู้ศึกษา
3.5 ในปี พ.ศ. 2557 ก่อนการรัฐประหารไม่ปรากฎว่ามี พ.ร.บ. ใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaipublica