เปิดไส้ใน คนไทย “เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน”
การเป็นหนี้เป็นได้ แต่ถ้าเกิดคนอายุน้อย วัยทำงาน เกิดมีหนี้เสียขึ้นในประวัติของตนเอง เอากำลังใจที่ไหนทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง ขณะเดียวกันสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้นเราก็หวังเพิ่งกำลังแรงงานเหล่านี้ หากมีภาวะหนี้เสีย โอกาสเป็นสตาร์ทอัพ ก็น้อยลง
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 11.48 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อยู่ที่ 11.13 ล้านล้านบาท จะเห็นว่า ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
โดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยกู้ยืมเงินสถาบันการเงินตกประมาณ 3.5 แสนคน
ขณะที่ระบบนิเวศทางการเงิน พบว่า
1. ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารต่างประเทศ ปล่อยกู้อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33% โดยเป็น 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน
2. สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธกส. ธนาคารออมสิน ธอส. เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 23% หรือ 1ใน 4 ของหนี้ครัวเรือน
3. สหกรณ์ออมทรัพย์ ปล่อยกู้ 1.7 ล้านล้านบาท (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ประมาณ 7 แสนล้านบาท ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ครูประมาณ 4-5 แสนล้านบาท)
4. บริษัทให้บริการบัตรเครดิต เช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล ปล่อยกู้สินเชื่อบัตรผ่อนของ บัตรกดเงินสด อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท
นอกนั้นมีในส่วนของโรงรับจำนำ และบริษัทประกัน ที่มีการปล่อยกู้ในระบบร่วมด้วย
ฉะนั้นตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ทั้งหมด 11.48 ล้านล้านบาท มีข้อมูลอยู่ในเครดิตบูโร ประมาณ 10 ล้านล้านบาท
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร ) ชี้ว่า คนเป็นหนี้ครัวเรือนไทยที่มีประวัติกับเครดิตบูโรถึง 87% ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นภาพสะท้อนหนี้ครัวเรือนไทยได้เป็นอย่างดี
นายสุรพล บอกว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำข้อมูลจากเครดิตบูโร ตั้งแต่ปี 2551-2559 มาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทำให้เราได้เห็นไส้ในประเภทของสินเชื่อ อายุของคนที่เป็นหนี้ อย่างชัดเจน
“ท่านดูซิ คนอายุ 75 ปี คนอายุ 60 ปี ก็ยังมีหนี้ คนอายุ 55 ปีซึ่งควรมีหนี้น้อยเพราะรอวันเกษียณ ภาพลักษณะแบบนี้ดูแล้วน่ากลัวไหม ?
คนอายุน้อยประมาณ 30 ปี มีหนี้เกินค่าเฉลี่ย 50% ของคนอายุ 30 ปีมีหนี้ ความหมายคือ อายุ 30 ปี เดินมา 100 คน มี 50 คน เป็นหนี้ ภาพนี้บอกว่าเรามีหนี้เร็ว อายุน้อยไม่ใช่ร้อยล้าน อายุน้อยเป็นหนี้”
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ยังฉายภาพให้เห็น พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า หากนำตัวเลขหนี้กยศ.อีก 4 แสนล้านบาท และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 1. 7 ล้านล้านบาท มารวมด้วย ภาพกราฟที่เห็นนี้จะเปลี่ยนไป สถานการณ์นี้ยืนยันได้ว่า คนไทย “เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน”
นายสุรพล ให้ข้อมูลต่อถึงตัวเลขหนี้เฉลี่ยของคนไทย โดยนำหนี้ของคนไทย 20 ล้านคนที่มีประวัติในเครดิตบูโร มาหารเฉลี่ย พบว่า ตกประมาณ 1.5 แสนบาท
คำถามคือ แล้วใครมีหนี้เกินกว่าค่าเฉลี่ย? พบว่า ส่วนใหญ่ คือคนวัยทำงานทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รวมหนี้กยศ.และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะมาเป็นตัวเพิ่มค่าเฉลี่ย
ยิ่งเมื่อมาดูตัวเลขการค้างชำระหนี้ น่าสนใจ พบว่า คนอายุ 29 ปี 5 คนเดินมา มี 1 คนเป็นหนี้เสีย (NPLs)
หากเฉลี่ยคนไทยทุกช่วงอายุ 100 คนเดินมา มี 16 คนเป็นหนี้เสีย
“ผลที่ตามมาที่มีความกังวล การเป็นหนี้เป็นได้ แต่ถ้าเกิดคนอายุน้อย วัยทำงาน เกิดมีหนี้เสียขึ้นในประวัติของตนเอง เอากำลังใจที่ไหนทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง ขณะเดียวกันสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้นเราก็หวังเพิ่งกำลังแรงงานเหล่านี้ หากมีภาวะหนี้เสีย โอกาสเป็นสตาร์ทอัพ ก็น้อยลง”
ปัญหานี้ เขามองว่า ยังส่งผลให้มีอัตราการทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินสูงขึ้นด้วย
ประเด็นคนช่วงอายุ 55 ปี ซึ่งอีก 5 ปีจะเกษียณอายุ หนี้ควรลดลง แต่พบว่า ตัวเลขหนี้ไม่ได้ลดลงเลยนั้น แถมยังเป็นหนี้เสียด้วย ถามว่า แล้วการขับเคลื่อนนำพาประเทศจะไปต่ออย่างไร
ทั้งนี้ ยังมีตัวเลขหนี้ครัวเรือน ย้อนหลัง 9 ปี จำนวนมาโป่งตรงคนอายุน้อย หมายความว่า พอเริ่มต้นทำงานก็เป็นหนี้แล้ว
และยังพบว่า ที่ผ่านมาหนี้ไปสูงอยู่ช่วงอายุน้อย ซึ่งเกิดจาก “โครงการรถยนต์คันแรก” หนี้เสียก็ป่องอยู่ตรงช่วงอายุนี้ด้วยเช่นกัน
หากไล่ดูทีละสินเชื่อ
- สินเชื่อเครดิตการ์ด คนอายุน้อย คือลูกค้ารายใหญ่ของบัตรเครดิต ซึ่งแต่ละปีจะมีบัตรใหม่ 2.2 ล้านใบ โดย 50% เป็นการเปิดบัตรใหม่ให้กับคน Gen Y (อายุ 19-36 ปี )
- สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ และมากสุดช่วงอายุ 40-50 ปี เช่น การผ่อนสินค้า 0%
- สินเชื่อบ้าน คนเริ่มทำงาน จะมีหนี้บ้าน
- สินเชื่อรถยนต์ จากอดีตคนช่วงอายุน้อยๆ ไม่สามารถซื้อรถยนต์ได้ แต่เมื่อมีโครงการรถยนต์คันแรก ตัวเลขเพิ่มขึ้นทันที รวมถึงสินเชื่อผ่อนมอเตอร์ไซด์ด้วย
- สินเชื่อธุรกิจ พบว่า ไม่ได้เพิ่มหรือขยับขึ้นเลย การดูสตาร์ทอัพเกิดไม่เกิด ดูได้จากตัวเลขนี้
นายสุรพล ยังคำนวณให้เห็นตัวเลขชัดๆ โดยยกกรณีหากใครสักคนคิดจะผ่อนคอนโดมิเนียม ราคา 3.2 ล้านบาท ต้องมีเงินผ่อนเดือนละ 2 หมื่นบาท หากต้องมีเงินผ่อนคอนโดฯ รายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน คิดดูว่า รายได้ 5 หมื่นบาทรายได้ ผ่อนคอนโด ผ่อนอย่างอื่นอีก กินใช้ต่อเดือน
“ตัวอย่างสินเชื่อบ้าน มีบัญชีสินเชื่อบ้านเกิดใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนบัญชี หรือ 3.5 แสนหลัง ปริมาณบ้านหรือคอนโดที่ขายได้ แค่ไตรมาสแรกปี 2560 แบงก์อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 7 หมื่นบัญชี
นี่ไงรู้หรือยังทำไมสินเชื่อบ้านถึงโหด
ถามว่า แล้วใครคือคนที่กู้บ้านผ่าน มีตัวเลขชี้ชัดว่า คนยุค baby boomer ไม่มีบ้านใหม่แล้ว คน Gen-Y ได้รับอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 1-3 ล้านบาท ซึ่งก็คือ คอนโดนั่นเอง
อีกทั้งยังพบว่า มีคน Gen-Y จ่ายหนี้บ้านไม่ได้กว่า 6 หมื่นกว่าบัญชี คน Gen-X จ่ายหนี้บ้านไม่ได้ประมาณ 1.2 แสนบัญชี คนยุค baby boomer ตัวเลขต่ำกว่า 2 หมื่นบัญชี”
นี่คือตัวเลขสะท้อนสถานการณ์ชีวิต slow life ของคนยุคนี้ ที่ฝันอยากเป็นอิสระ แต่ความเป็นจริงกลับมีรายได้พอๆ กับรายจ่าย ไม่มีเงินออม แถมเป็นหนี้ ไม่มีความสามารถในการชำระ หนี้คงค้างจึงพุ่งขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: