ที่แรกของโลก กสิกรไทยเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชน
ที่แรกของโลก กสิกรไทยเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชน แชร์ข้อมูล ปลอดภัย ลดต้นทุน ดึง 4 พันธมิตรเข้าร่วมพัฒนา ตั้งเป้าปลายปี 61 เพิ่มสัดส่วนใช้งานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ 35%
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนา “Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” โดยทางด้าน นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการให้บริการด้านการเงิน โดยเฉพาะในเรื่องของหนังสือค้ำประกัน ว่า บล็อกเชนเป็นการสร้างเครือข่ายระบบเก็บรักษาและเรียกใช้เอกสารที่มีความปลอดภัยสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเอกสารให้ดีขึ้น เช่น บริการหนังสือค้ำประกัน ซึ่งรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ กำหนดให้บริษัทคู้ค้าต้องวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อความมั่นใจในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงมีหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารต่างๆ หมุนเวียนในระบบจำนวนมาก
นายพิพิธ กล่าวว่า ทางธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมกับไอบีเอ็มในการสร้างระบบต้นแบบบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน และได้ทำการทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีพันธมิตรร่วมพัฒนาได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล และบจก. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง โดยบริการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ความปลอดภัย มีการจัดเก็บข้อมูลขึ้นระบบในมาตรฐานเดียวกัน ตรวจสอบสถานะได้ตลอดเวลา 2. ความเร็ว ช่วยลดเวลาขั้นตอนด้านเอกสารจาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที 3. การลดต้นทุน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดการเอกสารลง 2 เท่า 4. การเพิ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจให้จัดการเอกสารได้ทุกที่ทุกเวลา 5. ข้อมูลรวมศูนย์ ภายใต้แฟลตฟอร์มเดียวกัน และ6. การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านฐานข้อมูลที่มีร่วมกัน สามารถต่อยอดได้ในอนาคต
นอกจากนี้ นายพิพิธ กล่าวด้วยว่า ในปี 2560 นี้ คาดว่าไทยจะมีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวม 1.35 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 8% ในจำนวนนี้เป็นหนังสือค้ำประกันที่ออกโดย กสิกรไทยราว 3.3 แสนล้านบาท ที่ส่วนแบ่งตลาด 25% เป็นอันดับหนึ่ง โดยผ่านการใช้บริการหนังสือค้ำประกันผ่านธนาคารสาขา 80% และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 20% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่า ในสิ้นปี้ 2561 จะสามารถเพิ่มสัดส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35% โดยเป็นสัดส่วนที่ใช้ผ่านบล็อกเชน 5%
“บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเกิดขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรกของโลก จะถูกนำไปพัฒนาใช้เป็นมาตรฐานใหม่ที่เป็นสากลมากขึ้น เพราะจะช่วยเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ลดปริมาณการใช้กระดาษ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ในยุคไทยแลนด์ 4.0” นายพิพิธ กล่าว
ด้าน นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการสนับสนุนเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกระบวนการ Regulatory Sandbox หรือ กระบะทรายเพื่อการทดลอง ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถนำโครงการต่างๆ เข้ามาร่วมทดสอบได้ ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้กำกับดูเเล และผู้ใช้บริการได้เรียนรู้ได้ด้วยกัน ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการ ตลอดจนความเสี่ยง เพื่อที่ผุ้ให้บริการจะสามารถปรับปรุงพัฒนาได้อย่างทันท่วงที
นางฤชุกร กล่าวด้วยว่า ต้องยินดีกับทางธนาคารกสิกรไทยที่นำเอาบล็อกเชนมาใช้กับกับหนังสือค้ำประกัน ได้รับอนุญาตให้เข้าการทดสอบในระบบของธนาคารแห่งประเทศไทยเเล้ว ส่วนต่อมาที่เป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ สร้างมาตรฐานกลาง ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันในระบบการเงิน ตัวอย่างเช่น ระบบพร้อมเพย์ ซึ่งทำให้การโอนเงินข้ามธนาคารเป้นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ได้ทำมาตรฐานการข้อมูลการชำระเงิน ที่สามารถใช้ได้ทั้งองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริการมากขึ้น
ในส่วนนโยบายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ นางฤชุกร กล่าวว่า การเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ ย่อมมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผลักดันให้ผุ้บริการทางการเงินเพิ่มความปลอดภัยในการตรวจจับ สร้างมาตรฐานการดูเเลบุคลากรในการพัฒนาระบบเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ
อ่านประกอบ:เมื่อ Blockchain กำลังเปลี่ยนโลก 3 อุตสาหกรรมไหนต้องปรับตัวก่อน