อสส.แจ้งอัยการสั่งคดี กม.แรงงานต่างด้าว ไร้โทษ - พ้นความผิดอาญา มีผลย้อนหลัง
อัยการสูงสูงสุดแจ้งพนักงานอัยการทั่วประเทศ ให้แนวทางการดำเนินคดีการกระทำผิดกฎหมายแรงงานต่างด้าวเกิดระหว่าง 23 มิ.ย.-31 ธ.ค .60 หรือการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อน ไร้โทษ - พ้นความผิดอาญา
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ทำหนังสือ ถึงรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการ และโครงการในพระดําริ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน เรื่อง แนวทางในการดำเนินคดีในความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการใช้ดุลพินิจสั่งคดี มีใจความดังนี้
ตามที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และต่อมา ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยในข้อ 1 ให้มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงาน ของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษของความผิดมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 59 และ มาตรา 72 ตามลำดับ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้จัดการประชุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดี สำนักงานศาลยุติธรรมได้เผยแพร่ข้อสังเกตุการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 นั้น
สํานักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 และมีความเห็นทางกฎหมาย เป็น 2 แนวทางดังนี้
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" ดังนั้น เมื่อพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 260 ข้อ 1 กำหนดให้บทบัญญัติมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 มาตรา 122 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เท่ากับว่า การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 57 ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษทางกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดอาญาที่ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษ ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติภายหลังบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
2. พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้กำหนดบทความผิดและบทลงโทษไว้เป็นการชัดเจนแล้ว เพียงแต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 บัญญัติให้ลงโทษตามกฎหมายมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 ไม่มีผลใช้บังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยกเว้นโทษให้ผู้ที่กระทำความผิดในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ถึงกับเป็นการยกเลิกความผิดตามพระราชกำหนด จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทษ กล่าวคือ กฎหมายเดิมมีโทษ ส่วนกฎหมายที่ใช้ในภายหลังไม่มีโทษ จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมโดยเสียงข้างมากมีความเห็นไปในทางเดียวกับความเห็นที่หนึ่งว่า การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติภายหลังบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ผู้กระทำความผิดจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด