พัฒนาการอีกขั้นของ "หุ่นยนต์กู้ระเบิด" สัญชาติไทย
"สงครามก่อการร้ายสมัยใหม่ เป็นการต่อสู้กันระหว่างเทคโนโลยีกับระเบิดแสวงเครื่อง" ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่คือทิศทางของสงครามสมัยใหม่ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลจากอาจารย์สุรชาติ ชี้ชัดว่า ร้อยละ 60 ของการก่อการร้ายสมัยใหม่ใช้ระเบิดแสวงเครื่องเป็นอาวุธ ส่วนอีกร้อยละ 30 ใช้ปืน และร้อยละ 10 เป็นการก่อความรุนแรงแบบอื่น แต่ที่น่าตกใจก็คือ เป้าหมายของการก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นประชาชน ฉะนั้นเรื่องนี้จึงใกล้ตัวทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจเท่านั้น
"ระเบิดแสวงเครื่อง" หรือ ไออีดี (Improvised Explosive Device) หมายถึงระเบิดที่ทำขึ้นเองจากส่วนประกอบทั้งที่เป็นอุปกรณ์ทางทหาร และไม่ใช่อุปกรณ์ทางทหาร มักจะประดิษฐ์ขึ้นอย่างหยาบๆ แต่ก็มีประสิทธิภาพอย่างมากในการทำลายกำลังรบตามแบบ ซึ่งก็คือทหารอาชีพทั้งหลาย โดยผู้ใช้ระเบิดแสวงเครื่อง คือ บรรดานักรบกองโจร ผู้ก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มก่อการร้าย
ระเบิดชนิดนี้เรียกอีกอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า "ระเบิดทำเอง" หรือ โฮมเมด บอมบ์ (homemade bombs, homemade explosives)
รูปแบบการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง มีทั้งที่เป็นระเบิดข้างถนน หรือ โรดไซด์ บอมบ์ (roadside bombs) มุ่งโจมตียานพาหนะของเป้าหมาย หรือชุดลาดตระเวนของทหาร นอกจากนั้นยังมีการใช้ในรูปแบบติดตั้งในรถจักรยานยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์บอมบ์. รถยนต์ หรือ คาร์บอมบ์ รวมไปถึงรถบรรทุก ที่เรียกว่า ทรัค บอมบ์ ด้วย
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย เพราะเหตุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนเป็น "ระเบิดแสวงเครื่อง" ทั้งสิ้น ขณะที่รูปแบบการโจมตีด้วย "คาร์บอมบ์" ก็เกิดมาแล้วถึง 52 ครั้ง ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศก็เคยมีการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง เช่น ระเบิดการเมืองต่อต้านอำนาจรัฐในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา
จากความน่ากลัวและ "ใกล้ตัว" ของระเบิดแสวงเครื่อง ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเก็บกู้และทำลายระเบิดชนิดนี้ เป็นเรื่องสำคัญ
เวทีสัมมนาและนิทรรศการว่าด้วยทิศทางการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการทหารในอนาคต และการปฏิบัติการด้านการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ซึ่งจัดโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป.เมื่อกลางเดือน ก.ค.60 จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศเพื่อรับมือกับระเบิดแสวงเครื่องรูปแบบใหม่ๆ
ไฮไลท์ของงานคือ การนำหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดขนาดเล็กมาจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สทป. ลักษณะเด่นของหุ่นยนต์เก็บกู้ขนาดเล็ก ประกอบด้วย ขนาดของตัวหุ่นยนต์ที่เล็กลง มีน้ำหนักเพียง 15 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก เพียงแค่นำขึ้นสะพายหลังก็สามารถนำไปปฏิบัติภารกิจได้แล้ว และยังเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในภารกิจค้นหา รวมทั้งประเมินความเสี่ยงในระยะ 100 เมตรเลยทีเดียว
นอกจากการทำให้ขนาดของหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดเล็กลง เคลื่อนย้ายสะดวกด้วยน้ำหนักเพียง 15 กิโลกรัมแล้ว หุ่นยนต์รุ่นนี้ยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การติดตั้งกล้องที่ทำหน้าที่เสมือนดวงตาของเจ้าหน้าที่ มีแขนและมือจับที่สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุได้ ที่สำคัญหนีไม่พ้นเรื่อง "ราคา" เพราะต้นทุนต่อ 1 ตัวเพียงแค่ 7-8 แสนบาทเท่านั้น หากเทียบกับหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดของต่างประเทศที่ราคาสูงถึง 2-3 ล้านบาท ก็นับว่าราคาถูกมาก
แต่การมีหุ่นยนต์กู้ระเบิดเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะ "ถังข้อมูล" เกี่ยวกับผู้ที่มีพฤติการณ์เป็น "มือระเบิด" ก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากการเรียนรู็วิธีการประกอบระเบิด ย่อมทำให้การเก็บกู้เป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด บอกว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบผู้ที่มีพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นมือประกอบระเบิด หรือผู้ก่อเหตุระเบิด เพราะหากติดตามจับกุมคนเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการป้องกันเหตุระเบิดไปในตัว
นับเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการเชิงรุกในการรับมือกับสงครามก่อการร้าย ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็มีสงครามความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสงครามการเมืองที่นิยมใช้ระเบิดมากขึ้นเรื่่อยเช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าว NOW26
ภาพ : สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)
อ่านประกอบ : เปิดตัว "หุ่นกู้ระเบิด" ฉบับกระเป๋า...รับมือไฟใต้ - สู้ภัยก่อการร้าย