ล่ารายชื่อหนุน กม.ผู้ได้รับผลกระทบฯ เยียวยาคนไข้ ครอบคลุม 3 กองทุน -รพ.เอกชน เข้าร่วมสมัครใจ
“ปรียนันท์” รณรงค์ผ่าน change.org ล่ารายชื่อผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ คาดหวังสำเร็จในยุค คสช. หลังต่อสู้นาน 15 ปี ล่าสุด รมว.สธ.เตรียมนำร่างฉบับปรับปรุงเสนอ ครม.-สนช. ตั้งกองทุนจ่ายร่วม รพ.เอกชนเข้าโดยสมัครใจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่านางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org เรื่อง เยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขโดยปัจจุบัน (17 ก.ค. 2560) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 28,174 คน จากจำนวนทั้งหมด 35,000 คน เพื่อผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...
นางปรียนันท์ กล่าวว่า การฝ่าฝันตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ จะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้ โดยจะให้มีการเยียวยาอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี และมีคณะกรรมการกลางประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทำหน้าที่พิจารณา รวมถึงรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นไปพัฒนาเพื่อป้องกันเกิดเหตุการณ์ซ้ำ
เมื่อถามถึงสาเหตุทำให้ พ.ร.บ.ถูกลากยาวมาถึง 15 ปี ประธานเครือข่ายผู้เสียหายฯ ระบุว่า เพราะมีกลุ่มแพทยสภาต่อต้าน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิม ในปี 2549 บังคับให้ รพ.เอกชน ต้องร่วมจ่ายสมทบเข้ากองทุนด้วย แต่กรรมการแพทยสภาที่ส่วนใหญ่มาจาก รพ.เอกชน ไม่เห็นด้วย จึงปลุกระดมแพทย์ทั้งประเทศให้แต่งกายชุดดำออกมาประท้วง จนรัฐบาลสมัยนั้นไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ต่อในสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ส.ส. และส.ว.มีมติเป็นเอกฉันท์ 511 เสียง ให้รัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ปรากฎว่า ภายหลังมีเหตุผลบางประการทำให้กฎหมายไม่ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณา จนกระทั่งสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนี้ได้มีการยกร่างใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยให้ครอบคลุม 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง), ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เบื้องต้นเป็นสถานพยาบาลของภาครัฐ ส่วนเอกชนให้เข้าร่วมโดยสมัครใจ
“คาดหวังมากว่าจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.สำเร็จในยุค คสช. เพราะ สธ.ปรับปรุงร่างฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปรมว.สธ.จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า กฎหมายจะเป็นหลักประกันให้คนไข้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรมภายใน 1 ปี ไม่ต้องทะเลาะกับหน่วยงาน หรือต่อสู้คดีในชั้นศาล เสียเงินว่าจ้างทนายใด ๆ” นางปรียนันท์ กล่าวในที่สุด .