เปิด 7 ประเด็น พอช. ชี้แจง 'อิศรา' กรณีปัญหาบ้านประชารัฐ-ริมคลอง
"...การดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะมีหน้าที่สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้ชุมชน ส่วนเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ชาวชุมชนจะร่วมกันบริหารจัดการเอง เช่น ร่วมกันสำรวจราคาวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานในราคาที่ต่ำที่สุด คัดเลือกบริษัทรับเหมาที่เข้ามาเสนองานก่อสร้าง จนได้บริษัทที่ชุมชนพอใจ ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2560 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้ส่งเอกสารข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีสำนักข่าวอิสรา ได้เขียนรายงานเรื่อง “ตามไปดู 'บ้านประชารัฐ ริมคลอง' ระวังแก้น้ำท่วมไม่ได้ แถมเพิ่มปัญหาหนี้สิน?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.isranews.org เมื่อวันอังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2560 และเรื่อง “หยุดสร้างมา2ปีแล้ว! คนชุมชนเขตหลักสี่ปูดไส้ในบ้านประชารัฐ-ริมคลองยุค 'บิ๊กตู่' ปัญหาเพียบ” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 นั้น
โดยระบุว่า เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนยังคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จึงขอชี้แจงในแต่ละประเด็นดังนี้
1.ชุมชนวังหิน เขตจตุจักร พบว่า มีการสร้างบ้านตามโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” จำนวน 14 หลัง ซึ่งมีชาวบ้านได้เข้าอยู่อาศัยทุกหลัง โดยลักษณะของบ้านเป็นปูน 2 ชั้น ถูกตกแต่งด้วยการทาสี คล้ายกับเป็นการแบ่งพื้นที่ของบ้านในแต่ละหลัง อย่างไรก็ตาม บ้านบางหลังยังมีโครงสร้างของบ้านอย่างเช่นเหล็กโผล่ออกมาจากด้านข้างของบ้าน ด้านข้างของบ้านบางหลังนั้น มีสภาพลักษณะคล้ายว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังไม่มีการทาสีแต่อย่างใด นอกจากนี้บริเวณหน้าบ้าน มีการขุดดินเพื่อวางท่อน้ำ ที่อยู่ในสภาพยังไม่แล้วเสร็จ เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องนำแผ่นไม้มาวางพาด เพื่อทำเป็นทางเดินเข้าบ้าน
จากการสอบถามจากชาวบ้านที่อาศัยในบ้าน ได้รับแจ้งข้อมูลว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างบ้านนั้น ได้หยุดการก่อสร้างมานานเกือบเดือน และได้บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการทำท่อน้ำบริเวณหน้าบ้านให้แล้วเสร็จ แต่ก็ยังคงไม่มาดำเนินการจนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าชุมชนวังหินจะมีการสร้างบ้านประชารัฐ ริมคลองขึ้นแล้วก็ตาม แต่การสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ยังคงไม่มีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้น มีเพียงแค่นำเสาปูนมาวางเท่านั้น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ขอชี้แจงว่า ชุมชนวังหินมีบ้านเรือนทั้งหมด 82 หลัง มีผู้เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐฯ จำนวน 52 หลัง กลุ่มที่ไม่เข้าร่วมประมาณ 10 หลัง ส่วนที่เหลือยังรีรอว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ หรือหากรัฐบาลให้เงินชดเชยก็จะรับเงินแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนที่ก่อสร้างเฟสแรกจำนวน 15 หลัง ขณะนี้สร้างเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว บางหลังยังมีเหล็กโผล่ออกมาด้านข้าง เนื่องจากเป็นบ้านที่จะก่อสร้างต่อไป แต่ติดขัดบ้านเรือนที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ (บ้านหลังสีเขียว) และยังไม่รื้อย้าย
ทั้งนี้บ้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2559 เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างบ้านประชารัฐฯ ในชุมชนวังหิน และจะขอเงินชดเชยค่าเสียหายด้วย และต่อมาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน และผู้ฟ้องเป็นผู้ที่บุกรุกที่ดินของรัฐ จึงไม่ใช่เป็นผู้ที่เสียหาย และไม่มีสิทธิในการฟ้องร้องคดี ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ในระหว่างการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินกับเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวแล้ว
ส่วนในประเด็นเรื่องท่อน้ำทิ้งที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จนั้น เนื่องจากทางชุมชนและผู้รับเหมาก่อสร้างต้องรอให้บริษัทสร้างเขื่อนฯ เข้ามาตอกเสาเข็มและสร้างทางเดินหรือสันเขื่อนให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะหากก่อสร้างท่อน้ำทิ้งก่อนการสร้างสันเขื่อน เมื่อบริษัทสร้างเขื่อนฯ ขนเครื่องจักร เช่น รถแบ็คโฮเข้ามาก็จะทำให้ท่อน้ำทิ้งแตกหรือเสียหายได้
ส่วนการที่ยังไม่ตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนฯ ในชุมชนวังหินนั้น บริษัทรับเหมาก่อสร้างเขื่อนฯ ชี้แจงว่า จะต้องรอให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ ก่อน เพื่อให้ได้ระยะความยาวหรือมีเนื้องานที่จะทำได้มาก เนื่องจากการขนย้ายอุปกรณ์และเครื่องจักรทางเรือ โดยเฉพาะปั้นจั่นมีค่าใช้จ่ายสูง หากมีระยะความยาวที่สามารถตอกเสาเข็มได้ไม่กี่สิบเมตรก็จะไม่คุ้มค่าในการขนย้ายเครื่องจักร
2.ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ เขตจตุจักร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ถัดจากชุมชนวังหิน พบว่า ยังไม่มีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้น ทั้งการสร้างเขื่อนฯ และบ้านประชารัฐ ริมคลอง นอกจากการทุบบ้านบริเวณทางเข้าชุมชนเท่านั้น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก มีทั้งหมด 113 หลังคาเรือน 121 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งชุมชน 4 ไร่ 41 ตารางวา ได้รับสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์เมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยจะพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงคลองลาดพร้าวจตุจักร จำกัด ได้รับงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งสิ้น 49,592,500 บาท ประกอบด้วย งบช่วยเหลือลดภาระหนี้สิน จำนวน 8,784,000 บาท งบอุดหนุนจากรัฐบาล จำนวน 3,050,000 บาท งบสาธารณูปโภค 6,100,000 บาท งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 31,658,500 บาท
ทั้งนี้ชุมชนจะดำเนินการสร้างบ้านทั้งหมดจำนวน 3 เฟสด้วยกัน ซึ่งในเฟสแรก ได้มีการรื้อย้ายบ้านเรือน เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 14 หลังคาเรือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อย้ายเฟสแรกเพิ่มเติมตามแผนให้ครบจำนวน 44 หลังคาเรือนภายในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ โดยในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 44 หลัง โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธี ส่วนที่เหลือจะดำเนินในระยะต่อไป โดยมีแผนการก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งชุมชนให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2561
ส่วนแบบบ้านมี 2 แบบ คือ 1.บ้านแถว 1 ชั้น ขนาด 4X7 เมตร ราคาหลังละ 210,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,017 บาท 2. บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4X7 เมตร ราคาหลังละ 395,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,500 บาท ระยะเวลา 15 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
3. “การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเขื่อนที่สร้างนั้นต่ำไป แต่ทางเราได้ยกระดับตัวบ้านให้สูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 40-50 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาได้บ้าง”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า ตามแผนงานการก่อสร้างเขื่อนของบริษัทริเวอร์ฯ ระบุว่า จะมีการขุดลอกคลองลาดพร้าวตลอดแนวคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตร นอกจากนี้การย้ายบ้านเรือนที่กีดขวางทางเดินของน้ำออกจากคลองจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำในคลองลาดพร้าวดีขึ้น อีกทั้งเมื่อมีการเปิดใช้อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ (ปากอุโมงค์ตั้งอยู่ใกล้โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก) ภายในเดือนสิงหาคมนี้แล้ว น้ำที่ไหลลงสู่คลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อจะสามารถระบายผ่านอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีอุโมงค์ระบายน้ำตั้งอยู่ใกล้คลองแสนแสบ เขตวังทองหลาง เพียงแห่งเดียว
4. การดำเนินงานการโครงการนี้ ทำให้ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านดีขึ้น ไม่แออัด แต่โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดภาระหนี้สิน เนื่องจากต้องนำเงินมาใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งการสร้าง การซ่อมแซม และการต่อเติมบ้านซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน จึงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า ก่อนการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง รวมทั้งโครงการบ้านประชารัฐริมคลองในพื้นที่ต่างๆ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลครัวเรือน รายได้-รายจ่าย รวมทั้งความสามารถในการผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้าน ซึ่งผลจากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่า ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้านได้ครัวเรือนละ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน ดังนั้นงบประมาณในการก่อสร้างบ้านจึงใช้ฐานรายได้ของชาวบ้านเป็นหลัก โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้าน รวมทั้งสามารถเลือกขนาดและแบบบ้านได้ตรงกับขนาดของครอบครัวและความสามารถในการผ่อนชำระ
เช่น ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ จะมีแบบบ้านให้เลือก 3 แบบ คือ 1. บ้านชั้นเดียว ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 183,000 บาท 2.บ้านสองชั้น ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 285,000 บาท และ 3. บ้านสองชั้น ขนาด 6 x 6 เมตร ราคาประมาณ 360,000 บาท ผ่อนส่งประมาณเดือนละ 1,388-2,500 บาทเศษ ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนยังได้จัดงบประมาณสนับสนุนชาวบ้านในการพัฒนาสาธารณูปโภค งบอุดหนุน งบช่วยเหลือ ฯลฯ เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งประมาณ 140,000 บาท
นอกจากนี้ในการก่อสร้างบ้านใหม่ ชาวบ้านสามารถนำวัสดุเก่า เช่น ไม้ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ มาใช้ในการก่อสร้าง จะทำให้ช่วยลดต้นทุนได้ อีกทั้งที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญมีหลายหน่วยงาน รวมทั้งบริษัทเอกชนเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR เช่น ช่วยทาสีบ้าน ติดไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ เครื่องออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น ปรับภูมิทัศน์ ทำระบบบำบัดน้ำเสีย พิพิธภัณฑ์และที่ทำการชุมชน ฯลฯ รวมเป็นมูลค่าทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้ช่วยลดภาระของชาวบ้าน
5.ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 เขตหลักสี่ มีการก่อสร้างบ้านตามโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” ขึ้นแล้วจำนวน 9 หลัง ลักษณะบ้านเป็นปูน 2 ชั้น ถูกปิดกั้นด้วยสังกะสี ภายในมีอุปกรณ์นั่งร้านเหล็กวางตั้งเรียงตามอาคารบ้าน และมีหญ้าขึ้นรก จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ได้รับแจ้งว่า ผู้ที่รับผิดชอบสร้างบ้าน ได้หยุดการก่อสร้างมานานร่วม 2 ปีแล้ว เนื่องจากทาง พอช. ไม่มีงบประมาณในการสร้างบ้านให้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบ้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว มีชาวบ้านเข้ามาพักอาศัยบางแล้ว และใช้เงินส่วนตัวมาตกแต่งต่อเติมบ้านเองทั้งหมด
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 เดิมชุมชนแห่งนี้ชาวบ้านมีแผนงานที่จะทำโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2551 (ก่อนหน้าที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของ กทม.) โดยมีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนก่อสร้างบ้าน มีสมาชิกจำนวน 93 ครัวเรือน เมื่อมีข่าวว่า กทม.จะมีการก่อสร้างเขื่อนฯ ในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ในช่วงปี 2558 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง
ดังนั้นชาวบ้านในชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 จึงอยากที่จะทำโครงการนี้ เพื่อที่จะได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมธนารักษ์ เนื่องจากที่ตั้งของชุมชนอยู่ติดถนนใหญ่ และเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง สามารถทำมาค้าขายได้ โดยการรื้อบ้านที่รุกล้ำแนวคลอง แล้วก่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม เริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรกในเดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวน 9 หลัง (เฟสแรกมีทั้งหมด 17 หลัง) โดยชาวบ้านใช้เงินออมของตัวเองมาเป็นทุนในการก่อสร้างบ้าน (จ้างบริษัทรับเหมาหลังละประมาณ 310,000 บาท และค่าก่อสร้างฐานรากอีกหลังละ 40,000 บาท) วางเงินมัดจำให้บริษัทก่อสร้างงวดแรกจำนวน 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มก่อสร้างบ้านได้ไม่นาน ได้มีกลุ่มชาวบ้านและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในเขตหลักสี่ได้มาคัดค้านการก่อสร้างบ้านและไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับทางสำนักงานเขตหลักสี่ว่าชาวบ้านแจ้งวัฒนะ 5 ก่อสร้างบ้านโดยไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้างจากทางเขตฯ ดังนั้นในเวลาต่อมาสำนักงานเขตหลักสี่จึงนำคำสั่งมาปิดประกาศห้ามก่อสร้างบ้าน
ส่วนเหตุผลในการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยตรงนั้น คาดว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวกลัวว่าหากโครงการสร้างเขื่อนฯ และสร้างบ้านริมคลองเดินหน้าไปได้ บ้านเรือนของตัวเองก็จะต้องถูกรื้อย้ายด้วย จึงต้องคัดค้านและขัดขวางการสร้างบ้านประชารัฐริมคลองทุกวิถีทาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่คัดค้านที่เป็นเจ้าของห้องเช่า บ้านเช่า เจ้าของบ้านหลังใหญ่ ฯลฯ ที่จะเสียผลประโยชน์ เพราะโครงการบ้านประชารัฐริมคลองจะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่จริง และจะได้ขนาดที่ดินเท่ากัน
นอกจากนี้ตามแผนงานการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของ กทม.ในช่วงแรก (ปี 2559-2562) จะดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อก่อน ส่วนคลองเปรมประชากรคาดว่าจะดำเนินการในช่วงต่อไป ประกอบกับมติของคณะขับเคลื่อน 5 (คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำสาธารณะ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน) ในเดือนสิงหาคม 2559 ให้ชะลอโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองเปรมประชากรออกไปก่อนจนกว่าจะดำเนินการในคลองลาดพร้าวแล้วเสร็จ ดังนั้นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงยังไม่ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองเปรมประชากร ขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้สร้างบ้านให้แล้วเสร็จ เนื่องจากถูกคำสั่งระงับการก่อสร้างจากทางเขตหลักสี่ และยังค้างค่าก่อสร้างกับบริษัทรับเหมาสร้างบ้าน
6.ชุมชนคนรักถิ่น เขตหลักสี่ พบว่า มีการสร้างบ้านตามโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” ขึ้นแล้ว จำนวน 4 หลัง และมีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยจำนวน 2 หลัง ส่วนสภาพบ้านถูกตกแต่งด้วยการสีบริเวณหน้าบ้านเท่านั้น โดยชาวบ้านในชุมชนคนรักถิ่น ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า ผู้ที่รับผิดชอบสร้างบ้านได้หยุดการก่อสร้างบ้านมานานร่วม 2 ปี แล้วเช่นกัน สาเหตุที่หยุดก่อสร้างได้รับแจ้งว่าทาง พอช. ต้องการสร้างบ้านตามโครงการในเขตชุมชนคลองลาดพร้าวให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดำเนินการก่อสร้างบ้านในเขตชุมชนอื่นที่หลัง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาชาวบ้านบางส่วนในชุมชนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ รวมทั้งการสร้างบ้านยังทำให้มีหนี้สิน จากเมื่อก่อนอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงิน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า ชุมชนคนรักถิ่น (อยู่ริมคลองเปรมประชากร ห่างจากชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ประมาณ 2 กิโลเมตร) เริ่มก่อสร้างบ้านจำนวน 4 หลังประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 และได้ถูกกลุ่มคัดค้านกลุ่มเดียวกันไปแจ้งเรื่องร้องเรียนที่สำนักงานเขตหลักสี่ ซึ่งต่อมาสำนักงานเขตหลักสี่ได้นำคำสั่งปิดประกาศห้ามก่อสร้างมาปิดประกาศ ชาวบ้านจึงหยุดก่อสร้าง แต่ก็ได้ต่อเติมมาเรื่อยๆ จนพอเข้าอยู่อาศัยได้
ส่วนประเด็นการมีหนี้สิน จากเมื่อก่อนอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงินนั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านทั้งหมดที่อาศัยอยู่ริมคลอง ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ จึงถือว่าเป็นการอยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้อง หรือบุกรุกที่ดินราชพัสดุ แต่เมื่อมีโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง กรมธนารักษ์จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ระยะเวลา 30 ปี ในอัตราผ่อนปรน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกตารางวาละ 1.50 -3.00 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็จะต้องมีภาระในการผ่อนส่งบ้านจากการใช้สินเชื่อของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งก่อนการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง รวมทั้งโครงการบ้านประชารัฐริมคลองในพื้นที่ต่างๆ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลครัวเรือน รายได้-รายจ่าย รวมทั้งความสามารถในการผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้าน ซึ่งผลจากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่า ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้านได้ครัวเรือนละ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน ดังนั้นงบประมาณในการก่อสร้างบ้านจึงใช้ฐานรายได้ของชาวบ้านเป็นหลัก โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้าน รวมทั้งสามารถเลือกขนาดและแบบบ้านได้ตรงกับขนาดของครอบครัวและความสามารถในการผ่อนชำระ
เช่น ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ จะมีแบบบ้านให้เลือก 3 แบบ คือ 1. บ้านชั้นเดียว ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 183,000 บาท 2.บ้านสองชั้น ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 285,000 บาท และ 3. บ้านสองชั้น ขนาด 6 x 6 เมตร ราคาประมาณ 360,000 บาท ผ่อนส่งประมาณเดือนละ 1,388-2,500 บาทเศษ ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนยังได้จัดงบประมาณสนับสนุนชาวบ้านในการพัฒนาสาธารณูปโภค งบอุดหนุน งบช่วยเหลือ ฯลฯ เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งประมาณ 140,000 บาท นอกจากนี้ในการก่อสร้างบ้านใหม่ ชาวบ้านสามารถนำวัสดุเก่า เช่น ไม้ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ มาใช้ในการก่อสร้าง จะทำให้ช่วยลดต้นทุนได้
7.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง พอช. เพื่อให้ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า พอช.ไม่ได้จัดหาผู้รับเหมาเข้ามารับสร้างบ้านให้ ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการจ้างในรูปแบบไหน ลักษณะอย่างไรก็ได้ ส่วนปัญหาเรื่องอื่นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขอชี้แจงว่า การดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะมีหน้าที่สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้ชุมชน ส่วนเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ชาวชุมชนจะร่วมกันบริหารจัดการเอง เช่น ร่วมกันสำรวจราคาวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานในราคาที่ต่ำที่สุด คัดเลือกบริษัทรับเหมาที่เข้ามาเสนองานก่อสร้าง จนได้บริษัทที่ชุมชนพอใจ
โดยชุมชนแต่ละแห่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงาน มีการแบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายต่างๆ เช่น การสำรวจข้อมูลชุมชน เพื่อให้รู้ขนาดครอบครัว ความต้องการรูปแบบที่อยู่อาศัย ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ออกแบบที่อยู่อาศัย โดยมีสถาปนิกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบการก่อสร้าง ฯลฯ นอกจากนี้ชุมชนจะต้องจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล สำหรับการทำสัญญาและนิติกรรมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสร้างบ้านแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนยังมีแผนงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมเรื่องอาชีพ รายได้ สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ การพัฒนาผู้นำชุมชน ฯลฯ โดยจะเริ่มดำเนินการในชุมชนต้นแบบภายในปีนี้ เช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม