มรภ.สวนสุนันทายันจัดสอบล่วงหน้าได้ เหตุอาจารย์ผู้สมัครต้องไปแสดงงานวิจัยที่ ตปท.
มรภ.สวนสุนันทา ยันสอบเลือกบุคคลเป็น พนง.มหาวิทยาลัย ทำถูกต้อง ชี้อธิการฯอนุมัติให้สอบล่วงหน้าได้ถ้าจำเป็น เหตุมีอาจารย์ผู้สมัครสอบต้องไปแสดงผลงานวิจัยที่อังกฤษ
จากกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรวจสอบ กรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สวนสุนันทา) รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นอาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ อย่างไรก็ดีการสอบดังกล่าวมีผู้เข้าสอบในวันเวลาที่กำหนด 4 ราย ไม่มาสอบ 2 ราย แต่เมื่อประกาศผลสอบ ผู้ไม่มาสอบในวันเวลาที่กำหนด 2 ราย เป็นผู้ผ่านการสอบนั้น
(อ่านประกอบ : กางข้อบังคับ มรภ.สวนสุนันทาปมบรรจุอาจารย์ สอบนอกรอบทำได้หรือไม่-ใครอนุมัติ?, ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบ มรภ.สวนสุนันทา คัดคนไม่ได้เข้าสอบเป็นอาจารย์-อธิการฯยันโปร่งใส)
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 มรภ.สวนสุนันทา ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org อธิบายเหตุผลถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560 มรภ.สวนสุนันทา ได้ออกประกาศเรื่องรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (งบประมาณแผ่นดิน) สายวิชาการ กำหนดสอบข้อเขียนในวันที่ 1 ก.ค. 2560 และสอบสัมภาษณ์วันที่ 4 ก.ค. 2560
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ดร.เจตน์สฤษฎิ์ อังศุกาญจนกุล อาจารย์สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.สวนสุนันทา หนึ่งในผู้สมัครสอบแข่งขันดังกล่าว มีหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากต้องเดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัยในนาม มรภ.สวนสุนันทา ในการประชุมวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ซึ่ง ศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดี มรภ.สวนสุนันา อนุมัติให้ ดร.เจตน์สฤษฎิ์ สอบล่วงหน้าในวันที่ 30 มิ.ย. 2560
สำหรับเหตุผลการใช้อำนาจดุลยพินิจของอธิการบดีครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกอบกับอำนาจในการวินิจฉัยตีความ กรณีมีปัญหาจากการบังคับใช้ประกาศ มรภ.สวนสุนันทา เรื่อง หลักเกณฑ์การรับบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งวิชาการและตำแหน่งสนับสนุนวิชาการ กรณีขอสอบล่วงหน้า ตามข้อ 11 วรรคสอง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเคยมีกรณีพิจารณาอนุมัติให้ผู้สอบผ่านรายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าได้ในกรณีมีความจำเป็น และกรณีนี้ ดร.เจตน์สฤษฎิ์ มีบันทึกขออนุญาตสอบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของ ดร.เจตน์สฤษฎิ์ ที่ต้องเดินทางไปนำเสอนผลงานวิจัยในนาม มรภ.สวนสุนันทา ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการเปิดรับสมัครสอบบรรจุพนักงาน ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 อีกทั้งการจัดสอบล่วงหน้าไม่มีผลทำให้เกิดความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบระหว่างผู้สอบแข่งขันรายอื่น กรณีจึงพิจารณาอนุญาตได้
และหากมหาวิทยาลัยจะเอื้อประโยชน์ให้ ดร.เจตน์สฤษฎิ์ ซึ่งเป็นบุคลากรของ มรภ.สวนสุนันทาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าสอบแข่งขันดังกล่าว เนื่องจากตามประกาศ มรภ.สวนสุนันทา เรื่องหลักเกณฑ์การรับบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งวิชาการ และตำแหน่งสนับสนุนวิชาการ กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก แต่เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันและคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพ มหาวิทยาลัยจึงดำเนินการโดยวิธีการสอบคัดเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศ มรภ.สวนสุนันทา เรื่อง หลักเกณฑ์การรับบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งวิชาการและตำแหน่งสนับสนุนวิชาการ ข้อ 11 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีมีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาด