เปิดอก!ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน ไขปมที่มา-ทางออกปัญหาเลขบัตรปชช.คนเกิดปี 27 ทั้งระบบ
"..โดยปกติก่อนมีการให้เลขประจำตัวประชาชน เวลามีเด็กเกิดจะเอาข้อมูลจากสูติบัตรมาลอกใส่ทะเบียนบ้าน แล้วเอาข้อมูลในทะเบียนบ้านออกบัตรประชาชน แต่เมื่อมีการให้เลขแล้ววิธีปฏิบัติคือนอกจากลอกข้อมูลจากสูติบัตรมาใส่ในทะเบียนบ้านแล้ว ต้องลอกเลขมาใส่ด้วย ซึ่งคนเกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2527 จะต้องมีเลขขึ้นด้วย 1 แต่ ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อ 33 ปีก่อน เจ้าหน้าที่คงไม่เข้าใจระเบียบดีนักจึงลอกไปแต่รายการคน ไม่ได้ลอกเอาเลขไปด้วย เวลามีการกำหนดเลขในทะเบียนบ้านจึงกำหนดเป็นเลข 3 ทำให้สูติบัตรกับทะเบียนบ้านมีเลขไม่ตรงกัน..”
"เรื่องนี้เกิดมาเมื่อ 33 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงแรกของการกำหนดให้มีเลขประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจจึงดำเนินการผิดพลาด"
คือ คำยืนยันของ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวชี้แจงกับสำนักข่าว อิศรา www.isranews.org ถึงเงื่อนปมสำคัญอันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่เกิดในปี 2527 จำนวนกว่า 10,000 ราย ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตรวมถึงการติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ จากปัญหาหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตร ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ได้ลงนามในหนังสือถึง นายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทั้งระบบอย่างเป็นทางการแล้ว คือ ให้ประชาชนที่มีเลขหมายในเอกสารไม่ตรงกันใช้เลขหมายที่ได้ใช้มาตลอดได้ หากต้องการการรับรองก็สามารถขอเอกสารรับรอง พร้อมสลักหลังยืนยันว่าบุคคลที่มีเลขหมายประชาชนต่างกันเป็นบุคคลเดียวกัน (อ่านประกอบ : คนเกิดปี27พ้นทุกข์!ปค.สั่งแก้ปัญหาเลขบัตรทั้งระบบแล้ว-รับพลาดช่วงเปลี่ยนเขียนมือสู่คอมฯ)
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ คำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ของ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน ที่ตอบคำถาม สำนักข่าวอิศรา ถึงเงื่อนปมสาเหตุสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ ในทุกประเด็น
@ ยืนยันว่าสาเหตุของปัญหาเรื่องนี้ มีความผิดพลาดในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบในการบันทึกข้อมูลจากระบบเขียนด้วยมือ มาสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำเลขประจำตัวประชาชนในสูติบัตรคัดลอกลงในทะเบียนบ้าน แต่ได้กำหนดเลขประจำตัวประชาชนในทะเบียนบ้านใหม่
“ต้องเรียนว่าเรื่องนี้เกิดมา 33 ปีก่อน สมัยก่อนคนไม่มีเลขประจำตัวประชาชน มีแต่ชื่อนามสกุล ผู้มีเลขบัตรคลาดเคลื่อนเป็นเด็กเกิดในปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มให้เลขประจำตัวประชาชน ปี 2527 ทั้งในทะเบียนบ้านและในสูติบัตร
"โดยปกติก่อนมีการให้เลขประจำตัวประชาชน เวลามีเด็กเกิดจะเอาข้อมูลจากสูติบัตรมาลอกใส่ทะเบียนบ้าน แล้วเอาข้อมูลในทะเบียนบ้านออกบัตรประชาชน แต่เมื่อมีการให้เลขแล้ววิธีปฏิบัติคือนอกจากลอกข้อมูลจากสูติบัตรมาใส่ในทะเบียนบ้านแล้ว ต้องลอกเลขมาใส่ด้วย ซึ่งคนเกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2527 จะต้องมีเลขขึ้นด้วย 1 แต่ ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อ 33 ปีก่อน เจ้าหน้าที่คงไม่เข้าใจระเบียบดีนักจึงลอกไปแต่รายการคน ไม่ได้ลอกเอาเลขไปด้วย เวลามีการกำหนดเลขในทะเบียนบ้านจึงกำหนดเป็นเลข 3 ทำให้สูติบัตรกับทะเบียนบ้านมีเลขไม่ตรงกัน”
@ พบปัญหามานานแล้ว และพยายามแก้ไขมาเสมอ
"เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์จึงพบว่ามีปัญหา โดยทางราชการได้มีความพยายามแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว"
"ต้องเรียนว่าระบบนี้ตอนนั้นยังไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือเขียน ทางราชการอาจจะไม่เห็น มาเห็นเอาตอนหลัง ๆ ที่มีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่อำเภอ ที่เขต แล้วสแกนสูติบัตรเข้ามาในฐานข้อมูล"
"แต่เราผิดสังเกตว่ามีคนอยู่หมื่นคนที่เกิดหลัง 2527 แต่มีเลขประจำตัวเป็น 3 โดยปกติต้องเลขประจำตัวต้องเป็น 1 พอเราเห็นสูติบัตรที่เค้าแสกนมาเป็นเลข 1 เราก็ทยอยคอยแจ้งอำเภอ ว่าเลขประจำตัวประชาชนในทะเบียนบ้านกับในสูติบัตรไม่ตรงกัน ก็ให้ประชาชนเอาสูติบัตรมาแก้ในทะเบียนบ้านให้ตรง เราทำมาตั้งแต่ปี 2542 ทยอยทำมา 18 ปีแล้ว แก้ไปได้ 7,000 คน เหลือ 3,000 อย่างน้อยสองรายที่ปรากฏเป็นข่าว
"เมื่อแก้ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่เมื่อโตไปโอกาสที่จะได้ตรวจสอบหมายเลขทั้งในสูติบัตรและในทะเบียนบ้านมีน้อยลง เจ้าตัวก็ไม่ทันสังเกต พอเราไปแจ้งเค้าตอนเขาอายุมากแล้ว ก็เลยถูกใช้ทำธุรกรรมไปมากแล้ว”
@ ตัวเลขหมื่นคนคำนวณจากประชากรที่เกิดในปีนั้น แต่ได้เลขหมายผิดปกติ
“ในปี 2527 มีเด็กเกิดล้านกว่าคน พบที่ผิดประมาณ 1 เปอร์เซ็น ซึ่งก็ถ้าเทียบก็เป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะนัก และเราพบเราก็ทยอยแก้มา
"ตัวเลขหมื่นคนคือคนที่เกิดในปีนั้นแล้วไม่ได้เลข 1 เลข 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มเลขโดยการเกิดตามปกติ บางทีเจ้าหน้าที่สับสนกับการให้เลขแล้วเอาเลขห้าเลขสามมาใส่ ปีแรก ๆ เจ้าหน้าที่ก็อาจสับสนบ้างเพราะเพิ่งจัดให้มีการให้เลข "
@ แท้จริงแล้วเมื่ออิงตามระเบียบตัวเลขต้องตรงกัน แต่อธิบดียกเว้นกรณีนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนพบความยุ่งยาก
“จริง ๆ ระเบียบบอกว่ามีเอกสารสามอย่างต้องตรงกัน คือ สูติบัตร ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน แต่คนที่มีปัญหาคือไม่ตรง โดยตรงแค่ทะเบียนบ้านกับบัตร แต่เลขหมายในสูติบัตรไม่ตรง ตามระเบียบที่ถูกต้องเลยก็คือต้องแก้ แต่ท่านอธิบดีเห็นว่านี่ไม่ได้เป็นความผิดของประชาชน ถ้าจะผิดบ้างก็คือไม่ได้ตรวจสอบเอกสาร อธิบดีเลยให้ใช้เลขที่ใช้มาต่อไป ไม่ต้องแก้ แล้วก็ใช้ชีวิตตามปกติ"
"ถ้าเกิดว่ามีหน่วยงานราชการหรือเอกชนไหน ถามว่าทำไมสูติบัตรไม่ตรงกับทะเบียนบ้านก็ให้มาขอหนังสือรับรองที่อำเภอได้ จะได้ไม่ต้องแก้หลักฐานอะไรเลย"
@ ในจำนวนเจ็ดพันคน ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดปัญหา การช่วยเหลือติดตามแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
“มีเจ็ดพันคนที่แก้ไปแล้ว แต่ไม่ได้ก่อปัญหาเสียทุกคน เนื่องจากบางคนแก้ไขตั้งแต่เด็ก บางคนแก้ตั้งแต่อายุ 15 เราทยอยแก้มาเป็น 10 ปีแล้ว จะมีไม่กี่รายที่มาแก้ภายหลังแล้วมีธุรกรรมที่ต้องใช้เลขบัตรประชาชน ทางกรมการปกครองก็เลยออกแนวปฏิบัติใหม่ว่าไม่ต้องแก้ก็ได้ แล้วก็มีหนังสือรับรองว่าเลขที่ในสูติบัตรกับเลขที่ในทะเบียนบ้านเป็นบุคคลเดียวกัน อันนี้ไปขอที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศถ้าเขาสงสัย แต่ถ้าหน่วยงานไม่สงสัย เดี๋ยวนี้พออายุ 33 เขาก็ดูแต่บัตรประชาชน ไม่มีใครขอดูสูติบัตรก็ไม่จำเป็นต้องไปแก้อะไรทั้งนั้น"
@ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทำได้เพียงรับรอง
“จริง ๆ เราก็ไม่รู้ว่าประชาชนไปทำธุรกรรมที่ไหนบ้าง แต่หลายคนก็ทราบตั้งแต่แรกแล้วนะว่าไม่ตรงกัน เพียงแต่ว่าไม่อยากไปแก้ พอไม่ไปแก้แต่ราชการมีหนังสือให้ไปแก้ภายหลังก็มีธุรกรรมมากแล้ว ทำให้เค้าลำบากนิดหน่อย "
"ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเราก็จะรับรองให้ว่าเลขสองเลขนี้เป็นเลขเดียวกัน สิ่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่เราก็คงทำไม่ได้มากไปกว่านี้”
@ ไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้นอีก เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว
“แต่ก่อนใช้มือเขียนก็ไม่ได้ผิดแค่เลข ผิดทั้งชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด ตอนใช้มือเขียนเป็นความผิดพลาดหลากหลาย จากบ้านนึงย้ายไปอีกบ้านนึง จากสมศักดิ์ก็เขียนเป็นสมชาย ประชาชนก็ต้องไปแก้ ซึ่งปัญหาความผิดพลาดจากคน เราเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปแก้ ฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยแล้วเสร็จปี 2531 แต่ที่อำเภอที่เขตยังใช้มือเขียนอยู่ มาใช้คอมพิวเตอร์ทั่วประเทศเมื่อปี 47 นี่เอง ปัญหา “human error” มันหลีกไม่พ้นหรอก"
"สิ่งที่กรมการปกครองแก้ปัญหาตลอดก็คือเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามา แต่พอมาทำด้วยคอมพิวเตอร์การผิดพลาดก็ไม่เกิดขึ้นอีก ก็ต้องยอมรับการผิดพลาดในอดีต”
ทั้งหมดนี่ คือ คำชี้แจงของ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน ที่กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา อย่างเป็นทางการ
ส่วนผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะเป็นไปตามที่ตัวแทนหน่วยงานรัฐระบุไว้หรือไม่ โดยให้สาธารณชน ช่วยกันติดตามตรวจสอบการทำงานกันต่อไป
"เมื่อท่านพูดเราจะฟัง แต่เมื่อท่านลงมือทำ เราจึงจะเชื่อ"
อ่านประกอบ:
พลิกปม! เลขประจำตัวปชช.ไม่ตรงสูติบัตร กับความผิดพลาด-ใจดำ-ทิ้งขว้าง ของระบบราชการไทย