นักการตลาด ชี้ธุรกิจเพื่อสังคมไทยโตได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ
ผู้เชี่ยวชาญการตลาด เผย ธุรกิจเพื่อสังคมไทยโตได้ แต่ยังขาดการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม สะท้อนวัฒนธรรมคนไทยชอบคิดแต่ไม่ชอบทำ ขาดความร่วมมือ ยกแผน SDG ของUN ให้นักธุรกิจSE ตอบโจทย์เพื่อสร้างพาร์ทเนอร์
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.60 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน SET Social Impact Day 2017 เปิดเวทีเชื่อมโยงความร่วมมือของภาคธุรกิจและภาคสังคม ภายใต้แนวคิด "Partnership for the Goals:รวมพลังเพื่อความยั่งยืน" พร้อมจัดโชว์เคสกว่า 30 ธุรกิจ เพื่อสังคม เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจจับมือร่วมสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Brand Strategist & Sustainability Advisor บริษัท The Brand Being Consultant กล่าวถึงปัญหาหลักของคนที่จะทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) คือ ไม่เข้าใจว่า Social Value หรือ คุณค่าเชิงสังคมที่มาจากธุรกิจของเรา คืออะไร มีความตั้งใจอยากช่วยสังคมแต่ไม่รู้ว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไรจากธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจโดยปกติที่เน้นส่วนแบ่งตลาด มีแรงขับเคลื่อนคือ ผลกำไรคือปลายทาง แต่ถ้าเป็น SE ผลกำไรคือหนทาง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตัวเองวางไว้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ต้องชัดก่อนเป็นสิ่งแรก ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่จะลุกขึ้นมาทำ SE แต่รวมถึงคนที่จะให้การสนับสนุนต้องเข้าใจเหมือนกัน
ดร.ศิริกุล กล่าวว่า ขณะที่ระบบการศึกษา ณ ปัจจุบัน ไม่มีการสอนว่า ระบบคิดของคนที่จะทำ SE ต้องเป็นแบบไหน ต้องเข้าใจคำว่า ความพอเพียง เรามีศาสตร์พระราชา ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของความพอเพียง คุณจะไม่มีวันให้ ถ้าคุณไม่รู้จักคำว่าพอ เพราะฉะนั้นเราต้องทำใจว่า Moderate Growth คืออะไร เอาไปใช้เป็นหรือไม่ เพราะมีคนจำได้ แต่การทำให้เป็น Mind set จริงๆ นั้นยาก
"ปัญหาต่อมาที่ค่อนข้างสำคัญ SE มักไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานด้านเม็ดเงินที่จะมาช่วย และโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามารองรับในการทำธุรกิจแบบนี้ ขาดเงินทุนในการเริ่มต้น เมื่อไม่มีตรงนี้ก็ยากที่จะโต ขณะเดียวกันคนให้เงินก็ไม่เข้าใจระบบการเงิน เวลาเข้าไปให้เงินธุรกิจเหล่านี้ ไม่ได้มองอย่าง Complete life circle ของ SE บางทีมาช่วยแค่ช่วงต้น แต่ไม่ได้มองในระยะกลาง และระยะยาว อย่าลืมว่า SE มีระบบการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่จะเข้ามาต้องมองให้เห็นทั้งหมดก่อน" ดร.ศิริกุล กล่าว และว่า ขณะเดียวกัน ความพร้อมที่จะเข้ามาช่วย ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมยังน้อยหากเทียบกับ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เราอยู่ในช่วงเริ่มต้น ฉะนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจทั้งคนที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคมและคนที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งความร่วมมือเป็นปัญหาใหญ่หลวงของสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบช่วยคิด ไม่ชอบช่วยทำ คำว่า Collective impect จึงต้องค่อยๆ สร้างเพื่อที่การขับเคลื่อนสังคมจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.ศิริกุล กล่าวถึงคำว่า Collective เป็นที่มาของคำว่า Partnership หรือความร่วมมือ เราจะเข้ามาช่วยอุ้มชูให้ต้นไม้เล็กๆ เติบโตได้อย่างไร ซึ่งความร่วมมือที่ว่าเป็นเป้าหมายที่ 17 ของSDGหรือ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า วันนี้จะลุกขึ้นมาทำอะไรก็ตามต้องมีเรื่องความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางรอด ไม่มีใครสามารถลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสังคมได้ตามลำพัง
“วันนี้คนที่ทำธุรกิจSE เอาตัวไปอยู่ในจุดไหนของแผนพัฒนา SDG ของUN ลองดูว่าเส้นทางที่เรากำลังทำธุรกิจเรามาถูกทางไหม เพื่อให้หาพาร์ทเนอร์ได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ การทำให้ธุรกิจเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างแท้จริง ดร.ศิริกุล กล่าวว่า ต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม หรือ Inclusive ที่เริ่มพูดกันตั้งแต่งานเขียนของ C.K. Prahalad เพราะปัญหาของสังคมเกิดจากช่องว่างของคนจนและคนรวย ถ้าจะทำให้ช่องว่างแคบลง จะเอาเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน โดยไม่ได้ทำให้คนจนมีอาชีพ ไม่น่าจะเป็นการช่วยที่ยั่งยืน ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนให้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิต ไม่ใช่เป็นเพียงคนบริโภค
“คุณช่วยคนจนโดยที่บอกว่า วันนี้ฉันจะทำอาหารเพื่อคนจน กับการที่ให้คนจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของก็การผลิต คนละเรื่องกัน Inclusive Business คือการเปลี่ยนให้คนจนให้มีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าเราบอกว่า วันนี้ธุรกิจเราใหญ่โต และสามารถผลิตในราคาถูกลง แล้วเราบอกว่า ทำของถูกเพื่อคนจนเพื่อให้เขาได้มีโอกาสใช้ แบบนี้คือคนจนคือตลาด ซึ่งเขาก็ไม่มีรู้ว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาบริโภค แล้วเจือจุนให้อยู่รอด” ดร.ศิริกุล กล่าว และว่า ดังนั้น วิธีช่วยแบบ Inclusive คือ แทนที่จะทำอาหารในราคาถูก แต่เรามาสอนให้คนจนลุกขึ้นมาเปิดร้านขายข้าวแกงที่มีคุณภาพมากขึ้น ดีกว่าหรือไม่
“Inclusive Business จึงไม่ง่าย ไม่ใช่แค่การเข้าไปพูดคุยกับชุมชนเท่านั้น เพราะแบบนั้นเรียกว่า เป็น Engagement หรือการสร้างปฏิสัมพันธ์เท่านั้น โมเดลธุรกิจที่เน้นเรื่องสังคมเป็นหลัก คือต้องทำธุรกิจเหมือนนักธุรกิจทั่วไป แต่ผลกระทบที่ดีจะต้องกลับไปยังสังคม หรือสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างกำไรให้กับคู่ค้าฝ่ายเดียว”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน ยังมีกิจกรรมช่วง "Partners for Partnership" ที่จะได้พบกับธุรกิจเพื่อสังคมกว่า 30 ราย ที่จะมานำเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาสังคม ทั้งการออกบูธ และการเสนอข้อมูลใน Breakout session ใน 4 ด้าน คือด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการศึกษาและสุขอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสตรี เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ที่สำคัญ ยังมีบูธให้คำปรึกษาแก่ บจ. ด้าน CSR & Sustainable Development อาทิการจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตลอดทั้งวันเชิญเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบูธธุรกิจเพื่อสังคมอีกกว่า 20 รายรวมถึงสินค้าชุมชนของโครงการประชารัฐอีกด้วย