หุ่นยางพารา "ฝึกช่วยชีวิต" อีกหนึ่งนวัตกรรมของ ม.อ.ปัตตานี
การช่วยชีวิตในยามวิกฤติ ไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็ควรมีความรู้ขั้นต้นและตระหนักในบทบาทของตนเอง เพราะหากมีความรู้และ "ทำเป็น" ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาวิกฤติก่อนถึงมือแพทย์
นี่จึงเป็นที่มาของ "การอบรมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ CPR นาทีชีวิต : ช่วยเป็นช่วยได้" เมื่อต้นเดือน ก.ค.60 ที่ผ่านมา ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ. เป็นประธานเปิดโครงการนี้ด้วยตนเอง โดยมีวิทยากรจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีผู้เข้ารับการอบรมจาก 28 เครือข่ายสถานพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และผู้สนใจจาก จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวนกว่า 1,000 คน
การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ เน้นการช่วยฟื้นคืนชีพตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ตลอดจนการช่วยฟื้นคืนชีพให้กับเด็ก
ไฮไลท์ของการอบรม คือการเปิดตัว "หุ่นยางพารา" ที่ใช้สำหรับการฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.อ.
"หุ่นฝึกช่วยชีวิต" นี้ เดิมต้องซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง คณะนักวิจัยฯจึงมอบสิทธิ์การใช้หุ่นให้กับ ม.อ. เพื่อร่วมกันพัฒนาหุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เป็นภาคีเครือข่ายอยู่ด้วย กระบวนการพัฒนามีการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวหุ่น และเมื่อตรวจสอบจนได้มาตรฐาน จึงได้นำมาใช้ฝึกปฏิบัติการการช่วยชีวิต หรือ CPR (Cardio Pulmonary Resuscitation) ในครั้งนี้ด้วย
โครงการนี้ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสเกิดภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ต่างๆ สูงมาก โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ ช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยที่หยุดหายใจกะทันหัน
โอกาสนี้ คณะนักวิจัยพัฒนาและจัดทำหุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา ม.อ. ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้ร่วมกันศึกษาและจัดทำหุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา มอบให้กับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 50 ตัว พร้อมทั้งมอบแก่เครือข่ายสถานพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 50 ตัว รวม 28 หน่วยงาน ประกอบด้วย โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ตรัง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา และเทศบาลเมืองปัตตานี เพื่อนำไปใช้ในการฝึกช่วยชีวิตต่อไป
พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า 15 ปีที่ผ่านมา การเผยแพร่ความรู้ทางด้านการช่วยชีวิต (Cardio Pulmonary Resuscitation:CPR) ของไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนางานด้านการช่วยชีวิตและการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤติให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเท่านานาประเทศ มีจำนวนผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น มีการฝึกอบรมการช่วยชีวิตโดยทีมผู้สอนที่มีประสบการณ์ จำนวนครูผู้สอนตามเกณฑ์ สอบปฏิบัติผู้เข้าฝึกทักษะ รวมทั้งมีประชาชนสนใจและเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมากขึ้นในทุกภาคของไทย
"สำหรับสาเหตุที่ทำให้หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นฉับพลันก็เช่น จมน้ำ ได้รับยาเกินขนาด ไฟฟ้าช็อต กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือถูกฟ้าผ่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นคือ การไหลเวียนของโลหิตหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอาการไอ ไม่มีชีพจร หากรีบทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ Basic Life Support (BLS) ตามหลักการที่ถูกต้อง จะทำเกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอด เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง โอกาสที่จะกลับฟื้นมีชีวิตปกติก็มีสูงขึ้น" พล.ต.ต.นพ.โสภณ ระบุ
การช่วยฟื้นคืนชีพที่มีประสิทธิภาพจะต้องทำงานเป็นทีมและต่อเนื่อง โดยทีมงานประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และประชาชนที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์มาตรฐานการช่วยชีวิต
สำหรับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนคือ 1.ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยว่ามีสติหรือไม่ โดยการปลุกเรียกและดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกว่าหายใจหรือไม่ 2.ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน ตามเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ : เครื่องเออีดี (Automated External Defibrillator:AED)3.ปฏิบัติตามขั้นตอน การกดหน้าอก การเปิดทางเดินลมหายใจให้โล่ง และการช่วยหายใจ 4.การช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติโดยใช้เครื่องเออีดี
"สิ่งสำคัญคือต้องมีความปลอดภัยก่อนเข้าไปช่วย คนไทยชอบช่วย แต่ต้องเสียคนดีไปเยอะเพราะไม่รู้หลักการในการเข้าไปช่วย สิ่งสำคัญคือต้องเซฟตัวเอง ต้องให้ตัวเองปลอดภัยด้วย ย้ายผู้ป่วยออกมาก่อน หากกดหน้าอกนาทีแรกอย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยชีวิตได้ ต้องรู้และมั่นใจว่าทำได้ หากรอถึงนาทีที่ 3 ความสำเร็จหายไป 50% กดให้เป็น และเป่าปาก ส่วนครูที่สอนทุกคนต้องมีมาตรฐาน ต้องรู้หลักการ สอนเพื่อนำไปใช้ สอนเพื่อเป็นครู เพราะนอกจากอุปกรณ์แล้ว ต้องมีครูที่เหมาะสมด้วย" พล.ต.ต.นพ.โสภณ ระบุ และว่า
"สำหรับหุ่นที่ใช้ในการฝึก บ้านเรายังขาดอีกเยอะ บางสถาบันการศึกษาที่มีคณะแพทย์ นักศึกษาก็ได้ใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุม เมืองไทยต้องก้าวไปอีกหลายก้าว เมื่อมีการคิดค้นหุ่นจากยางพารา พบว่าหุ่นยางพาราของบ้านเรามีประสิทธิภาพดีมาก ต้องฝากความหวังคนรุ่นใหม่ไว้กับงานนี้ ถ้ามีหุ่นลงไปเต็มทุกโรงพยาบาลชุมชน โรงเรียน จะสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้มากทีเดียว"
อธิการบดี ม.อ.กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติราคายางพารา และจะใช้งานวิจัยต่อยอดเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องยางพาราลงไปสู่ชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และชุมชนสามารถผลิตหุ่นยางพาราเองได้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
-----------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : เลขา เกลี้ยงเกลา
บรรยายภาพ :
1-4 หุ่นยางพาราสำหรับฝึกช่วยชีวิต และบรรยากาศการอบรม
5 รศ.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ.