วินวิน 2 ฝ่าย ปรับนโยบายค่าไฟอย่างไร ให้สอดรับการใช้งานโซลาร์รูฟ
เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้นหน่วยการขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าจะลดลงในขณะที่ต้นทุนการดูเเลระบบลดลงเพียงเล็กน้อยหรือจะยังคงเท่าเดิม กฟผ. ในฐานะผู้จำหน่ายไฟฟ้าจะปรับโครงสร้างค่าไฟอย่างไร ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และวินวินกันทั้งสองฝ่าย
แม้ว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนและอาคาร ลดความต้องการไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดก๊าซเรือนกระจก แต่การผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซลาร์รูฟท็อปก็อาจพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต อันจะส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการใช้ไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน
ความไม่แน่นอนของแสงแดด ทำผู้ดูเเลระบบไฟฟ้าต้องเตรียมระบบการผลิต สำรองไฟฟ้าและสายส่งให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และข้อกังวลเรื่องต้นทุนการดูเเลระบบสายส่งสายจำหน่ายที่อาจจะไม่ลดลงในขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าที่ลดลงเพราะการผลิตไฟฟ้าใช้เอง
ในการนำเสนอผลการศึกษา “การเข้ามาของโซลาร์รูฟท็อปกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไฟฟ้า” ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เสนอแนวทางรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐานและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยยกประเด็นเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่นอน นั่นคือ เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น หน่วยการขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าจะลดลง ในขณะที่ต้นทุนการดูเเลระบบลดลงเพียงเล็กน้อยหรือจะยังคงเท่าเดิม
ดร.วิชสิณี อธิบายว่า ประเภทของต้นทุนที่ปัจจุบันแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ
(1) ต้นทุนต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มหรือลดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิต คิดจากค่าเชื้อเพลิงต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า
(2) ต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มหรือลดตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือที่เรียกว่า พีคไฟฟ้า มาจากต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
และ (3) ต้นทุนคงที่ คือการลงทุนก้อนใหญ่ ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดลงได้ตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าในระยะสั้น ซึ่งต้นทุนที่ว่านี้มาจาก ต้นทุนสายส่งแรงสูง และสายส่งแรงดันต่ำ และค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ ค่าจัดทำเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
ปัจจุบันระบบการคิดต้นทุนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังชดเชยต้นทุนเกือบทั้งหมด ผ่านทางค่าไฟต่อหน่วย มีค่าไฟฟ้าบางส่วนเช่น ค่าไฟฟ้ารายเดือนคงที่ที่เราจ่ายกัน 32 บาทหรือ 200กว่าบาท ตามประเภทผู้ใช้ไฟ ซึ่งจะมาครอบคลุมต้นทุนคงที่บางส่วนเท่านั้น และอีกส่วนที่เราจ่ายคือ ค่าพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเก็บจากผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่เท่านั้น จะไปชดเชยต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า
เพราะฉะนั้นส่วนที่เหลือจะมาจากค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เราใช้ ซึ่งในอดีตการที่ผู้ใช้ไฟไม่มีทางเลือก ต้องซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เจ้าเดียว การเก็บค่าไฟต่อหน่วยเพื่อไปชดเชยต้นทุนจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ว่าในอนาคตเมื่อเราสามารถติดตั้ง โซลาร์รูฟได้ หน่วยไฟฟ้าที่ขายได้ก็จะลดลง ดังนั้นรายได้ที่กฟผ.จะเอาไปชดเชยการผลิตก็จะไม่พอเเล้ว
“การผลิตไฟฟ้าเองจากโซลาร์รูฟในอนาคต มีผลทำให้ต้นทุนการดูเเลระบบเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่รายได้ของ กฟผ.จะลดลงแน่นอนหากไม่มีการปรับการบริหารการจัดการระบบเลยง่ายที่สุดเอาส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับรายได้ไปกระจายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดโซลาร์รูฟ”
ดร. วิชสิณี ระบุถึงข้อกังวลหลักในขณะนี้คือ รัฐยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ในการรับมือสิ่งที่จะเกิด ทำให้นโยบายที่จะสนับสนุน โซลาร์รูฟยังไม่แน่นอน
โดยแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสม คือต้องมองทางเลือกให้รอบด้าน และกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นสามประการข้างต้น คือต้นทุนในการดูเเลระบบที่จะเพิ่มขึ้น แนวทางคือการหาเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ลดต้นทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนกฟผ.
"รายได้ที่ลดลง การไฟฟ้าต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาหารายได้ และหากยังมีส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนที่สูงอยู่ ต้องทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และกระจายภาระอย่างเหมาะสม"
แนวทางการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันระบบการคิดต้นทุนกฟผ.ยังชดเชยต้นทุนเกือบทั้งหมด ผ่านทางค่าไฟต่อหน่วย ข้อเสนอจากการศึกษาของ ดร.วิชสิณี คือ แยกองค์ประกอบของค่าไฟฟ้าแต่ละส่วนออกจากกัน โดยอิงตามลักษณะของต้นทุนที่ต้องการชดเชย เช่นค่าต้นทุนคงที่
วันนี้เราจ่ายต้นทุนตรงนี้รายเดือนแต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้นควรปรับค่าบริการรายเดือนให้สะท้อนต้นทุนคงที่อื่นๆ เช่น ค่าสร้างและบำรุงระบบสายส่ง โดยสามารถทำเป็นค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ หรือค่าบริการรายเดือนที่สูงขึ้น
ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยปัจจุบันสะท้อนต้นทุนที่หลากหลายกว่าต้นทุนในการผลิต ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ คือต่อไปอาจพิจารณาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่สะท้อนต้นทุนการผลิตตามช่วงเวลา สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มต้องอาศัยมิเตอร์อัตโนมัติ แบ่งช่วงเวลาการคิดค่าไฟให้ละเอียดขึ้น เช่น ไฟฟ้าช่วงค่ำ หรือช่วงฤดูร้อนแพงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงหนาว และใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มเพราะจะมีผลให้ผู้ใช้ไฟเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการประหยัดพลังงานในช่วงพีค
นอกจากนั้นยังจูงใจให้ติดอุปกรณ์สำรองไฟฟ้าหรือแบตเตอร์รี่ เก็บไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟมาใช้ในช่วงกลางคืน
สุดท้ายคือ ต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันเราเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งๆ ที่มีบางครัวเรือนที่ใช้ไฟเยอะ แนวทางการปรับคือการปรับค่าพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสม และขยายฐานไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อให้กลุ่มที่แบกรับภาระตรงนี้กว้างขึ้น ผลที่ได้จะส่งเสริมการประหยัดพลังงานในช่วงพีค และส่งเสริมการติดตั้งอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า ลดปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า
ส่วนการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้นั้น ดร.วิชสิณี ชี้ว่า อัตรารับซื้อต้องสะท้อนประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริง เช่น มูลค่าที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับผลกระทบจากปรับโครงสร้างค่าไฟ ทำได้หลายแบบ เช่น กรณีที่สามารถระบุตัวคนจนได้แม่นยำ โดยเข้าไปอุดหนุนค่าไฟฟ้ารายเดือนแก่คนจน หรือกรณีที่ไม่สามารถระบุคนจนได้ อาจพิจารณาการปรับโครงสร้างไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่เท่านั้น
“ในอนาคตเมื่อมีโซลาร์รูฟเยอะขึ้น ระดับการใช้ไฟฟ้าจะไม่สามารถสะท้อนฐานของเศรษฐกิจครัวเรือนได้อีกต่อไปทั้งนี้ ควรปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานที่บ่อยขึ้น เพื่อสะท้อนสถานการณ์ตลาดและเทคโนโลยี”
นักวิจัย ยังได้ยกตัวอย่างโครงส้รางค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยสองส่วน คือ อัตราซื้อไฟฟ้าจากระบบโครงข่าย และอัตราขายไฟส่วนเกินเข้าระบบ สำหรับอัตราการซื้อไฟฟ้าจากระบบ มีสามส่วน เหมือนกับต้นทุนข้างต้น
มาดูที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอาคารและโรงงาน โครงสร้างค่าไฟฟ้าจะครบทุกองค์ประกอบอยู่เเล้ว แต่ว่าครัวเรือนและกิจการขนาดเล็ก จะมีแค่สองส่วนคือ ค่าบริการคงที่รายเดือน และค่าไฟฟ้าต่อหน่วย เนื่องจากในสหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ใช้ไฟสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ทำให้เกิดการเติบโตของตลาดโซลาร์รูฟอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มเห็นผลกระทบต่อการไฟฟ้า จึงเริ่มมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนและกิจการขนาดเล็ก ซึ่งมีการปรับหลายแบบ ปรับค่าคงที่รายเดือน กำหนดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่แปรผันตามกาลเวลา ในขณะที่บางแห่งเริ่มกำหนดให้เก็บค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่าสำรองไฟฟ้า
แนวทางในการปรับตัวเพื่อรับการเข้ามาของโซลาร์รูฟ ประเด็นต่อมาที่ ดร.วิชสิณี พยายามฉายภาพให้เห็น คือ การลดต้นทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น มาจากทั้งมุมมองของผู้ดูแล กำกับการใช้ไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า
โดยมาตรการสำหรับผู้กำกับดูเเลการไฟฟ้า ต้องเน้นการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้มากขึ้น โดยเอาการคาดการณืปริมาณโซลาร์รูฟและการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมาอยู่ในแผน นำเทคโนโลยี Smart Grid มาใช้มากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการผลิต และการใช้ไฟฟ้า สุดท้ายต้องนำข้อมูลการพยาการร์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มาใช้วางแผนการบริหารระบบ
สำหรับมาตรการของผู้ใช้ไฟฟ้า เราเน้นบทบาทการลดการใช้ไฟฟ้า และเพิ่มเสถียรภาพให้กับโซลาร์รูฟ ซึ่งสิ่งนี้จะถูกกระตุ้นโดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ที่สะท้อนต้นทุนตามเวลา เช่นราคาแพงในช่วงค่ำเป็นต้น จะมีผลกระตุ้นการเปลี่ยนพฤติกรรมประหยัดพลังงานมากขึ้น เกิดความคุ้มค่าในการนำเอาระบบสำรองไฟฟ้ามาใช้ด้วย
แนวทางการปรับตัวสุดท้ายคือการ มองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้กับการไฟฟ้า เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างแรก เช่นการให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นแค่บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ เป็นตัวกลางเชื่อมให้กับบริษัทที่รับติดตั้ง หรือว่าจะดำเนินการติดตั้งและเป้นเจ้าของโซลาร์รูฟเอง โดยทำสัญญาซื้อขายไฟในระยะยาวกับผู้ใช้ไฟฟ้า อันนี้ก็จะช่วยการันตีรายได้
การไฟฟ้าฯสามารถเพิ่มการให้บริการเกี่ยวกับการจัดการพลังงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน โดยบริการที่ให้ครอบคลุมการตรวจวัดการใช้พลังงานในอาคาร ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำให้อาคาร หรือโรงงานสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้มากขึ้นให้บริการเชื่อมต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อย มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซื้อขายไฟฟ้าป้อนโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าเทียม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้กำกับดูเเล ควรศึกษาทางเลือกในการกำกับดูเเลแบบใหม่ ที่ให้แรงจูงใจและเปิดโอกาสให้การไฟฟ้า มีส่วนร่วมในธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการพลังงาน และพลังงานทดแทนมากกว่าเดิม
อ่านประกอบ
นักวิจัย แนะรัฐปรับโครงสร้างคิดค่าไฟ รับโซลาร์รูฟให้ทันการเปลี่ยนแปลง
อัตราค่าไฟฟ้าสำรองกับความไม่เสถียรของกำลังไฟฟ้าแสงแดด: ปัญหาท้าทายด้านพลังงานไทย