นักวิจัย แนะรัฐปรับโครงสร้างคิดค่าไฟ รับโซลาร์รูฟให้ทันการเปลี่ยนแปลง
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เผยระยะใกล้ไทยยังไม่กระทบประเด็นโซลาร์รูฟ แต่อีก4-5 ปี รัฐต้องรีบปรับระบบโครงสร้างค่าไฟฟ้า ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 60 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนา “สู่การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป :เราจะอยู่กับ Disruptive Trchnology อย่างไร"
ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงโซลาร์รูฟท็อปกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไฟฟ้า ว่า ประเทศไทยมีความเข้มแสงค่อนข้างสูงบวกกับสถานการณ์ต้นทุนของแผงโซลาร์ที่ลดลง แต่หากมองในแง่ความคุ้นทุนในช่วงระยะสั้น สำหรับบ้านอยู่อาศัย การลงทุนติดแผงลงทุน อาจไม่คุ้มทุนเท่าไหร่ ในขณะที่กิจการขนาดกลางและใหญ่ มีระยะเวลาคืนทุนสั้นกว่า ลดค่าไฟที่จะมาซื้อจากโครงข่าย ลดการใช้พลังงานฟอซซิล ลดก๊าซเรือนกระจก การผลิตไฟฟ้าหนึ่งหน่วยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ0.498 กิโลกรัม แปลว่าถ้าเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจะสามารถลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลัก และมีมูลค่าจากการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 0.2 -11.บาท รวมถึงการลดพีคไฟฟ้าลงได้ ลดความจำเป็นในการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอซซิล
ดร.วิชสิณี กล่าวว่า ปัจจุบันระบบไฟฟ้าไทยยังได้รับผลกระทบจากโซลาร์รูฟค่อนข้างน้อยเรามีโซลาร์รูฟน้อยกว่า หนึ่งเปอร์เซ็นของความต้องการใช้ไฟฟ้าเทียบกับช่วงที่มีความต้องการใช้สูงอย่างในเดือนเมษายน นอกจากนี้โซลาร์รูฟ อยู่ค่อนข้างกระจายตัว ทำให้ความไม่แน่นอนในการผลิตโดยรวมลดลง เมื่อเทียบกับโซลาร์ฟาร์ม ขณะเดียวกันวันนี้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกำลังความต้องการไฟฟ้ามากในระยะสั้น การไฟฟ้าจึงไม่มีความจำเป็นในการสำรองไฟฟ้า
“เราจะเห็นผลกระทบเมื่อไหร่ ตอบได้ยาก ในสหรัฐฯ จากการศึกษา ผลกระทบที่เกิดรายได้ต่อการไฟฟ้าจะชัดเจน เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเกิน 10% ต้องการความต้องการไฟฟ้าในประเทศ” ดร.วิชสิณีกล่าว และว่า ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของไทย เราจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 6,000 เมกกะวัตต์ จะคิดเป็นเพียง 2.4% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามต้นทุนระบบโซลาร์ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการไฟฟ้า ไม่ได้เพิ่มเร็วเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ ดังนั้น การที่ไทยจะมีไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟเกิน 10% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดอาจมาเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ภายใน 4-5 ปีนี้ แน่นอน
ดร.วิชสิณี กล่าวอีกว่า ในระยะยาวเมื่อมีโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น ประการแรกที่จะกระทบคือความต้องการไฟฟ้าในตอนกลางวันลดลง แต่กลางคืนเท่าเดิม ความต้องการโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ใช่เพื่อคุมพีคตอนกลางวัน แต่คือตอนกลางคืน ความต้องการสร้างก็ยังไม่ลดเท่าไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือส่งผลกระทบการรูปแบบผลิต การซื้อขายไฟฟ้า รูปแบบความต้องการใช้โครงข่ายจะเปลี่ยนไป ความไม่แน่นอนจะเพิ่มขึ้น หน่วยจำหน่ายไฟฟ้า ลดลง ต้นทุนในการดูเเล เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าไม่ลดลง
“ช่วงที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เยอะในช่วงเช้า แสดงว่า โรงไฟฟ้า ต้องลดการผลิต และต้องเร่งเพิ่มในช่วงกลางคืน แต่ในโรงไฟฟ้าที่เรามี ยังไม่เหมาะในการทำแบบนี้ เราจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้า ในที่สามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น เช่น กังหันแก๊ส” ดร.วิชสิณี กล่าว และว่า การมีโซลาร์รูฟในระบบมากๆ ความไม่แน่นอนในระบบไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เพราะแสงแดดเป็นพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นหากระบบจำนวนการผลิตของโซล่าร์น้อย ความไม่แน่นอนของผลผลิตจะสูง แต่หากสามารถจัดการได้ คือรวมการผลิตโซล่าร์ เช่น รวม20 ระบบที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในไม่เกิน รัศมี100ไมล์ (160กิโลเมตร) เข้าด้วยกันสามารถช่วยลดความไม่แน่นอนลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังคงต้องเตรียมระบบสำรองไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าที่ปรับการผลิตได้รวดเร็ว เพื่อประกันว่าจะมีไฟฟ้าเพียงพอทุกเวลา
สำหรับประเด็นที่ กฟผ. เสนอให้ใช้ค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ดร.วิชสิณี ตั้งข้อสังเกตการณ์ว่า อัตราค่าสำรองไฟฟ้ามีความคล้ายคลึงกับอัตราสำรองค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของตัวเอง แต่ยังต้องการไฟฟ้าจากโครงข่ายมาเป็นหลักประกัน กรณีที่เครื่องผลิตไฟฟ้าของตัวเองไม่ทำงาน ปัจจุบัน มีอัตราค่าไฟฟ้าสำรองตัวนี้อยู่เเล้ว แล้วถ้าใช้กับเครื่องกำหนดไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำรองมีสามส่วน (1) ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วย (2) ค่าความต้องการไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ พีค และ(3)ค่าบริการคงที่รายเดือน ในเดือนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสำรองไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากโครงข่าย อย่างไรก็ต้องจ่ายค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าตามที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นค่าประกันขั้นต่ำ คล้ายกับค่าประกันอุบัติเหตุที่แม้ว่าจะไม่มีเหตุเกิดขึ้น เราก็จ่ายอยู่ดี แต่กรณีฉุกเฉินจะประกันว่าเรามีไฟฟ้าใช้ได้ทั้งระบบ
ดร.วิชสิณี กล่าวว่า ข้อเสนอให้เก็บค่าไฟฟ้าสำรองจาก โซลาร์รูฟ ที่เป็นลักษณะผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่ น่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า บางส่วนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บดังกล่าวไม่แก้ปัญหารายได้ที่ลดลง แปลว่าส่วนต่าง ระหว่างต้นทุนกับรายได้ จะยังคงอยู่ แล้วข้อควรระวังในการคิดค่าไฟฟ้าสำรองคือ ต้องไม่ให้เกิดการผลักภาระไปยังคนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟมากเกินความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้กำกับการดูเเล ระบบไฟฟ้าน่าจะพิจารณาการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองนี้ควบคู่ไปกับการพิจารณาโครงสร้างค่าไฟ ให้สะท้อนต้นทุน รวมไปถึงมาตรการการลดต้นทุนในระบบไฟฟ้า และการจัดหาช่องทางอื่นๆ ในการหารายได้ด้วย
“ดังนั้นในระยะสั้น ผลกระทบต่อโซลาร์รูฟยังไม่มากนัก การส่งผ่านภาระไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าจึงยังไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง 4-5 ปี ควรมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ผู้กำกับดูเเลควรศึกษาทางเลือกในการปรับโครงสร้างค่าไฟและนโยบายการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ ควรจะทบทวนแผนการลงทุนของการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อคุมต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นเยอะ และศึกษาทางเลือกในการกำกับดูเเล เน้นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการพลังงานและพลังงานทดแทนมากขึ้น และการไฟฟ้าต้องเร่งนำเทคโนโลยี สมาร์ท กริด(Smart Grid) เพื่อให้ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า นอกจากนั้นต้องมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้า ควรมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่โปร่งใสมากขึ้น"
อ่านประกอบ
อัตราค่าไฟฟ้าสำรองกับความไม่เสถียรของกำลังไฟฟ้าแสงแดด: ปัญหาท้าทายด้านพลังงานไทย