3 ผู้หญิงเพื่อชุมชน เปิดใจรับรางวัลสตรีสากล
“ประไพ ปทุมสุข” ประธานโอท็อป- จ๊ะ แคยิหวา ประธานช่างชุมชน- กวาง กมล รับรางวัลสตรีสากล ในฐานะผู้หญิงทำประโยชน์ชุมชน ร่วมสะท้อนปัญหาผู้หญิงชนบทยังขาดคนเหลียวแล
วันที่ 8 มี.ค.55 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จัดงาน “สตรีสากล” โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานโล่รางวัล “สตรีทำงานดีเด่น” ประจำปี 2555 จำนวน 28 คน ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ 3 สตรีที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจากการอุทิศตนทำงานเพื่อชุมชน โดย นางประไพ ปทุมสุข ประธานเครือข่ายสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอท๊อป) ระดับอำเภอ และเลขานุการเครือข่ายโอท๊อป จ.ชัยนาท ได้รับรางวัลสาขาสตรีผู้ประกอบอาชีพอิสระดีเด่น ภาคกลาง เปิดเผยว่า รางวัลนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้หญิงประพฤติตนเป็นคนดี มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งตนได้ยึดแนวทางดังกล่าวในการดำรงชีวิตมาตลอด
ส่วนงานที่ทำในชุมชน ได้แก่การส่งเสริมพัฒนาสินค้าโอท๊อป เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้หญิงในท้องถิ่นหลังจากว่างเว้นจากการทำนา ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ ธรรมรสฟาร์มผึ้ง ผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติไม่ผ่านความร้อนและไม่มีความชื้นปะปน ส่งผลให้น้ำผึ้งเกิดความหอมและเข้มข้นไม่มีสารเจือปน อีกทั้งยังผลิตไม้กวาดดอกหญ้าส่งขายทั้งตลาดในและต่างประเทศ ก่อเกิดรายได้ เหนือสิ่งอื่นใดยังเกิดความสามัคคีจากการร่วมมือร่วมใจของผู้หญิงในชุมชน
“ตั้งแต่ปี 2546 ที่ดิฉันมาเป็นประธานเครือข่ายโอท๊อป ต่อมาก็เป็นรองประธานสตรีประจำอำเภอหนองมะโมง จ.ชัยนาท ทำงานด้านการพัฒนาสตรีให้มีอาชีพในชุมชนมาตลอดและเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เคยท้อ เพราะผลที่ได้รับนอกจากความภาคภูมิใจแล้ว เห็นชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ดีใจที่สุด”
นางประไพ ยังกล่าวถึงบทบาทผู้หญิงในปัจจุบัน ว่าได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น เห็นได้จากที่มีผู้หญิงหลายคนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น ทั้งนี้คุณสมบัติสำคัญของผู้หญิงคือมีความละเอียดอ่อน อดทน สุภาพอ่อนโยน และทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชาย ต่างจากผู้หญิงสมัยก่อนที่ไม่ค่อยกล้าคิดกล้าทำ เพราะไม่มีใครผลักดัน แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ผู้หญิงไทยจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ยังมีผู้หญิงชนบทอีกมากที่ขาดการเหลียวแล ถูกครอบงำจากผู้ชาย ดังนั้นเครือข่ายสตรีและภาครัฐควรสนับสนุนทั้งด้านแรงงาน การศึกษา ให้ได้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม
ด้านสตรีดีเด่นภาคใต้ น.ส.จ๊ะ แคยิหวา ประธานช่างประจำชุมชนบ้านบ่อหิน ศูนย์ช่างประจำชุมชนเทิดไท้องค์ราชันย์ 80 พรรษา จ.สตูล เปิดเผยว่ารางวัลสตรีสากลเป็นคำขอบคุณที่ตนตั้งใจทำงานและเป็นวิทยากรสอนสมาชิกในหมู่บ้านมีความรู้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน โดยส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานทำหลังจากว่างเว้นการกรีดยางในช่วงบ่ายแต่ละวัน ผลิตภัณฑ์เด่นที่ส่งเสริม ได้แก่ เสื้อผ้า และตุ๊กตามุสลิม ที่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้และเผยแพร่เอกลักษณ์ชุมชนมุสลิม โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล
น.ส.จ๊ะ ยังแสดงความคิดเห็นว่า ผู้หญิงไทยยังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพให้ด้อยกว่าผู้ชายอยู่ แม้หลายองค์กรจะพยายามสร้างภาพว่าไทยเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียม โดยเฉพาะในชนบทยังมีการจำกัดสิทธิอยู่ สังเกตจากผู้หญิงถูกรังแกมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐต้องลงพื้นที่ดูแลจริงจัง ทั้งด้านอาชีพ ความรู้ ที่สำคัญรัฐบาลควรกำหนดกฎหมายให้สมาชิก อบต. แต่ละหมู่บ้านมีสมาชิกมาจากผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนที่เท่าเทียม เพราะเชื่อว่าอย่างไรผู้หญิงละเอียดอ่อน มั่นคง และเจรจาได้ดีกว่าผู้ชาย
ขณะที่นางกมลชนก เขมะโยธิน นักเเสดง หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลสตรีสากลด้านศิลปินดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชุมชน กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ตนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติคือการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงชุมชนในถิ่นทุรกันดาร เช่น มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก รวมถึงร่วมฟื้นฟูผู้หญิงที่ติดยาเสพติดและท้องก่อนวัยอันควรในต่างจังหวัด
นางกมลชนก กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาครัฐมุ่งเน้นส่งเสริมด้านอาชีพแก่ผู้หญิงในท้องถิ่นมาก แต่ลืมที่จะหันมาให้ความรู้แก่ผู้หญิงที่ท้องก่อนวัยอันควรในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในชุมชนที่ต้องเร่งแก้ไข ส่งผลให้เด็กที่เกิดมาเติบโตไม่มีคุณภาพ ตนเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องแก้ไขเรื่องการศึกษาให้กับประชาชนในท้องถิ่น เพราะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ .