ราชกิจจาฯ แพร่ประกาศพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อีก 60 วันบังคับใช้
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวัน สาระสำคัญ กำหนดนิยาม “ทารก” หมายความว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสิบสองเดือน และให้มีบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาระสำคัญ มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ทารก” หมายความว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสิบสองเดือน
“เด็กเล็ก” หมายความว่า เด็กอายุเกินสิบสองเดือนจนถึงสามปี
“อาหารสําหรับทารก” หมายความว่า
(1) นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงทารกตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
(2) นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้เลี้ยงทารกได้
“อาหารสําหรับเด็กเล็ก” หมายความว่า นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้ในการเลี้ยงเด็กเล็กและเฉพาะตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ
“อาหารเสริมสําหรับทารก” หมายความว่า อาหารที่ใช้เสริมคุณค่าทางโภชนาการและสร้างความคุ้นเคยในการบริโภคอาหารให้แก่ทารกที่มีอายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
มาตรา 14 ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับทารก ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับเด็กเล็กโดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณาที่มีลักษณะเชื่อมโยงหรือทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นอาหารสําหรับทารกหรือเหมาะสมสําหรับใช้เลี้ยงทารก
มาตรา 15 ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารก หรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทน ต้องดําเนินการให้ฉลากอาหารสําหรับทารกและฉลากอาหารสําหรับเด็กเล็กแตกต่างกันอย่างชัดเจนและสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่ายฉลากอาหารสําหรับทารกและฉลากอาหารสําหรับเด็กเล็กตามวรรคหนึ่งต้องแตกต่างจากฉลากอาหารอื่นอย่างชัดเจน
มาตรา 16 ภายใต้บังคับมาตรา 14 การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กของผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทน ต้องมีข้อความเช่นเดียวกับข้อความตามที่ปรากฏในฉลากอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร โดยไม่ปรากฏข้อความที่เป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ และกรณีเป็นอาหารสําหรับทารกต้องมีข้อมูล ดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลค่าใช้จ่ายและปริมาณในการใช้อาหารสําหรับทารกในภาพรวม
(2) ข้อควรระวังจากการเตรียมหรือการใช้อาหารสําหรับทารก
หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรายละเอียดในการจัดทําข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการช่องทางในการให้ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ
มาตรา 17 การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กของผู้ผลิตผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ
มาตรา 18 ในการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและอาหารสําหรับเด็กเล็ก ห้ามผู้ผลิตผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน ดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจกหรือให้คูปองหรือสิทธิที่จะได้รับส่วนลด ขายพ่วง แลกเปลี่ยนหรือให้ของรางวัลของขวัญหรือสิ่งอื่นใด
(2) แจกอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก หรือตัวอย่างอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(3) ให้อาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก สิ่งของ หรือสิ่งอื่นใดแก่หญิงตั้งครรภ์หญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็ก
(4) ติดต่อหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็กไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือแนะนําให้ใช้อาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก หรือเพื่อสื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก
มาตรา 19 ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน ประสงค์จะมอบหรือให้สิ่งของ อุปกรณ์ หรือของใช้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข สิ่งของอุปกรณ์ หรือของใช้ดังกล่าวจะต้องไม่มีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่าเป็นอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก กรณีที่มีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ จะต้องไม่สื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก
มาตรา 20 ห้ามผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทน ให้หรือเสนอว่าจะให้ของขวัญ เงิน สิ่งจูงใจ หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ
บทกําหนดโทษ
มาตรา 34 ผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 14 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือผู้ใดโฆษณาอาหารเสริมสําหรับทารกอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 35 ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารก อาหารสําหรับเด็กเล็กหรืออาหารเสริมสําหรับทารก หรือตัวแทนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 หรือมาตรา 26 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 36 ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 หรือให้ข้อมูลตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
บทเฉพาะกาล
มาตรา 50 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา 5 (1) และ (2) และให้อธิบดีกรมอนามัยเป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 51 ฉลากอาหารสําหรับทารก ฉลากอาหารสําหรับเด็กเล็กหรือฉลากอาหารเสริมสําหรับทารกที่ได้จัดทําไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 15 หรือ มาตรา 26 ให้ยังคงใช้ได้ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 52 ให้ดําเนินการออกประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กยังไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลประกอบกับประเทศไทยได้ให้การรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (The International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 34 (WHA 34.22) และในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 (WHA 63.23) ที่ประชุมมีมติให้แต่ละประเทศปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กที่เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ดาวน์โหลดฉบับเต็ม http://
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นพ.ศิริวัฒน์ ชี้ร่างพ.ร.บ.คุมนมผงทารกถึง 3 ปี ไม่สุดโต่ง ลดเหลือ 1 ปี เป็นแค่กระดาษเปล่า
แพทยสภาย้ำนมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทารก
ยูนิเซฟ-WHO หนุนร่างพ.ร.บ. ควบคุมส่งเสริมการตลาดอาหารทารก-เด็กเล็ก
กรมอนามัย ย้ำชัด พ.ร.บ.นม ช่วยปกป้องแม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง-ไม่ได้ห้ามขาย
นายกแพทยสภา นำเครือข่ายหมอเด็ก ค้านร่างพ.ร.บ.นม-คุมโฆษณาอาหารทารกถึง 3 ปี
เลขาธิการศูนย์นมแม่ฯ ลุ้นร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารก เข้าสนช.
วิจัยชี้นมผงเสี่ยงทำทารกเกิดโรค จี้คลอดกม.ควบคุมตลาดฯ เน้นกินนมแม่