นักวิชาการสะท้อนปัญหากลุ่มคนไร้สัญชาติ รัฐต้องคำนึงสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นหลัก
สะท้อนปัญหาทางกฎหมาย ผู้สูงอายุไร้รัฐยังเผชิญข้อขัดข้องขอสัญชาติ เหตุกฎเกณฑ์ไม่เอื้อ ด้านดร. นฤมล เสนอรัฐต้องคำนึงเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธ์ุ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2560 ที่โรงแรมสุโกศล สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่องการแก้ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย
นายอริยะ เพชร์สาคร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวถึงกรณีของปัญหาการเข้าถึงความมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติของกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ ว่า ผู้สูงอายุที่มีชีวิตของอยู่บนดอยตามกลุ่มชาติพันธุ์ เวลาต้องการขอสัญชาติไทยมีความยากลำบาก ปัญหาหลักอย่างเรื่องคำถามหลักเกณฑ์ความรู้ประเทศไทย ยกตัวอย่างคำถามเเรก ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอะไร ภาคไหนของประเทศไทยปลูกยางพารามากที่สุด ภาคไหนปลูกม่อนไหมมากที่สุด เป็นต้น ซึ่งนี่คือคำถามในระดับอำเภอยังเท่านี้ ระดับจังหวัดจะขนาดไหน ทำให้มีผู้สูงอายุไร้สัญชาติน้อยมากที่จะเข้าไปถึงระดับกรมการปกครองได้ ขณะที่หลายครั้งพวกเขายังต้องการล่ามต้องแปลภาษาให้เป็นภาษาไทยง่ายๆ ที่ให้เขาเข้าใจ อีกประเด็นคือ เรื่องการทดสอบการร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี บางคนทำได้ แต่ผู้สูงอายุหลายคนไม่สามารถร้องได้ ถ้าไม่มีคนนำ บางคนตื่นเต้น อายก็ร้องไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์สัญชาติเป็นไปด้วยความลำบาก
"อย่างกรณีตัวอย่างมีพี่น้องอาข่า มายื่น 9คำร้อง ผ่านแค่ 4 คำร้อง เพราะเขาพูดไม่ได้ อายเขิน อันนี้เป็นปัญหาหนักหนามาก"
ด้านนายไกรราช แก้วดี อนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาของชาวลาวอพยพ ตัวเขาเองอาจจะยังไม่รู้ว่ามีสิทธิอะไร เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร มีสวัสดิการมากมายที่เขาไม่ทราบ ลาวอพยพ มีความเป็นมาไม่ใช่น้อยตั้งแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยนโยบายสมัยนั้นพยายามผลักดันไปประเทศที่สาม
"ลาวอพยพของในศูนย์ก็รู้สึกอึดอัด บางคนมีพี่น้องในเมืองไทยก็หนีออกมา ปัญหาชาวลาวที่อพยพเข้ามาเมื่อปี 2518 ยุทธศาสตร์ในปี 2548 และจากการสำรวจมาจนถึง 2554 มีคนในกลุ่มนี้ 36,000 คนในปัจจุบันที่ยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ การพัฒนาสถานะเริ่มตั้งแต่มีชื่อในทะเบียน ได้รับสิทธิหลายๆ สิทธิผ่อนผันอยู่ในเมืองไทยชั่วคราว พัฒนาไปสู่การได้รับสัญชาติไทย"
นายไกรราช กล่าวถึงปัญหาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบริบทของพี่น้องชาวลาวอพยพ คือปัญหาที่ถูกลืม เช่นเรื่องที่เข้าร้องเรียนที่กรรมการสิทธิฯ มีชาวลาวที่แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ปี 48 แต่ปัจจุบันไม่ได้รับจดทะเบียนก็มี ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร อีกปัญหาคือ ปัญหาของคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีปัญหา ในที่ประชุม กสม. ได้มีข้อสรุปว่า หนึ่งเข้าไปทำความเข้าใจ ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความเข้าใจให้รู้ว่าสิทธิสวัสดิการอย่างไร และป้องกันการเข้ามาใหม่ ส่วนกรณีทางภาคเหนือคือ การขาดเครือข่ายที่เข้มเเข็ง ไม่มีคนสานต่องาน
ด้านดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติของชาวเล และมานิ ว่า ชาวเลกลุ่มที่มีปัญหามาก คือชาวมอแกน วิถีชีวิต การทำมาหากินถูกบีบคั้น อันมาจากกฎหมายที่มีปัจจุบันยึดเอารัฐชาติเป็นหลัก ซึ่งกับกลุ่มชาวเลที่มีเคยอพยพก่อนมีเขตแดนความเป็นรัฐชาติ ขณะเดียวกันพวกเขายังเสี่ยงต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะชาวมอแกนยังคงเดินทางไปมาระหว่างไทยและเมียนมา บริเวณเกาะมะริด และที่น่าห่วงคือเมื่อเมียนมา เปิดประเทศมากขึ้น เกาะ 800 เกาะกำลังจะเป็นสววรค์ของนักท่องเที่ยว แต่คือ นรก ของชาวมอแกน
ดร.นฤมล กล่าวว่า กลุ่มมานิต้องใช้พื้นที่ป่า ปัจจุบันขาดสิทธิทางวัฒนธรรมเมื่อป่าถูกทำลาย การเปิดสัมปทานไม้ หาอาหารได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามานิมีความหลากหลาย บางกลุ่มอยู่ติดกับที่เเล้ว บางกลุ่มยังอพยพ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายใดๆ ไม่ควรมองเป็นก้อนเดียว หรือมีแนวปฏิบัติเดียว ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องคำนึงต่อการปฏิบัติต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์ ไร้รัฐคือสิทธิทางวัฒนธรรมข้อกังวลอีกอย่างคือหากมีการจัดทำทะเบียนสัญชาติ อาจจะมีผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงต้องคำนึงผลกระทบบด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน