สินค้าโดนเลิกทะเบียนปี54วางขายเกลื่อน! สตง.จี้ รมว.เกษตรฯ ทำงานคุมร้านขายวัตถุอันตราย
'สตง.' จับมือสารวัตรเกษตร ลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านค้าจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 123 ร้าน ในพื้นที่ 27 จังหวัด ทั่วปท. พบปัญหาฝ่าฝืนกฎหมายเพียบ บางแห่งไม่มีใบอนุญาต ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการโดยไม่มีวางจำหน่ายในร้าน เผยสินค้าทะเบียนเก่ายกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 ยังวางขายเกลื่อน! จี้ 'รมว. ฉัตรชัย' ทำงานติดตามคุมเข้มกรมวิชาการเกษตร แก้ไขปัญหาด่วน
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการตรวจสอบการดำเนินงานควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งพบว่าร้านค้าจำหน่ายวัตถุทางการเกษตรยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดจำนวนมาก
โดยจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรในพื้นที่ 27 จังหวัด จำนวน 123 ร้าน พบว่า มีร้านที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวน 17 ร้าน และร้านที่เลิกจำหน่ายหรือเลิกกิจการ แต่ยังไม่ได้แจ้งยกเลิกทะเบียนใบอนุญาตจำนวน 39 ร้าน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาร้านค้าบางแห่งให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการโดยไม่มีการวางสินค้าจำหน่ายในร้านค้า รวมถึงปัญหาการจัดวางสินค้าที่ไม่เหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด คือ การตรวจสอบพบปัญหาการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรเลขทะเบียนเก่าวางจำหน่ายในร้านค้าด้วย ซึ่งในจำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบจำนวนกว่า 80 แห่ง พบว่ามีร้านค้าจำนวนมากถึง 71 ร้าน วางจำหน่ายสินค้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นเลขทะเบียนเก่าซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.2554 ด้วย
เบื้องต้น สตง.ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พิจารณาควบคุมร้านจำหน่ายวัตถุทางการเกษตรให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด รวมถึงเข้าตรวจสอบควบคุมการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่าไปแล้ว จึงแจ้งขอให้รมว.เกษตรฯ รับทราบ และติดตามผลการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรฯ ตามข้อเสนอแนะสตง.ต่อไปด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตร หมายถึง สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช รวมถึง สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่ง สารเหล่านี้มีการนำเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่ม ผลผลิตทางการเกษตร และลดการสูญ- เสียผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันการ ประกอบธุรกิจการนำเข้าวัตถุอันตราย ทางการเกษตร จะต้องปฏิบัติตามหลัก- เกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ วัตถุอันตรายปี 2535 ทั้งนี้เพื่อให้มีการ ควบคุมการใช้สารเคมีได้อย่างครบวงจร และมีการควบคุมตามความจำเป็นและ เหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการคุ้มครอง ความปลอดภัยของผู้บริโภค และผู้ที่ เกี่ยวข้องด้วย (อ้างอิงจากhttp://phachi.ayutthaya.doae.go.th/Agriculture%20DATAbase/AgriDangerChemi.pdf)
ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าทุกราย ต้องมีในอนุญาตของกรมวิชาการเกษตรในการขายสารเคมี ปุ๋ยเคมี และพันธุพืช ผู้ใดขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กรมหม่อนไหม