คาดอีก 20ปี ไทยต้องการไม้พาณิชย์เพิ่ม156 ล้านตัน แนะเร่งสร้างป่าเศรษฐกิจ
คาดอีก20 ปี ไทยต้องการใช้ไม้เพิ่ม 156 ล้านตัน นักวิชาการแนะรัฐเร่งสร้างกลไก ป่าเศรษฐกิจ ดึงภาคประชาชน ธุรกิจ เอกชนมีส่วนร่วม ลดการสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้านรองอธิบดีกรมป่าไม้ย้ำวันนี้พื้นที่เอกสารสิทธิ์สามารถดำเนินการปลูกไม้ได้เต็มที่
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.60 ที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนา เรื่อง “พันธบัตรป่าไม้ เครื่องมือเศรษฐกิจสู่ป่า 40%” ร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกลุ่มบิ๊กทรี
นายจงคล้าย วรพงซธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เรามีปัญหาในการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องของพื้นที่ ไม่ว่าจะปลูกในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือว่าทำในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ จริงๆ แล้วประเทศไทยมีพื้นที่ที่รองรับธุรกิจเหล่านี้อยู่เยอะ แต่สิ่งที่ขาดคือเรื่องของเงินทุนที่จะไปดำเนินการตรงนี้ ถ้าจะให้รัฐลงทุนฝ่ายเดียวคงลำบาก
นายจงคล้าย กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีฯ ได้มีคำสั่งให้หาวิธีการที่จะระดมทุนในการจัดการเรื่องป่าเศรษฐกิจ แทนที่เราจะไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว แล้วไปทำลายธรรมชาติ บุกรุกป่า ไปทำลายดิน ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ถ้าเกษตรกรในอนาคตสามารถมีอาชีพเกี่ยวกับป่าเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเราได้ไม้ ได้ป่า ได้สิ่งแวดล้อม มากกว่านั้น เรายังสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้จากการส่งออกไม้ จากที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ศึกษามาข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยมีธุรกิจต่างๆ 8 อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไม้ต่อปี ราว 58 ล้านตัน เพราะฉะนั้นหากเราจะมีไม้ในจำนวนเท่านี้ เราต้องมีพื้นที่ในการเพาะปลูกไม้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านไร่
“เรื่องของความต้องการ (Demand) และคนปลูก( Supply) ยังห่างกันเยอะ ทุกวันนี้ธุรกิจไม้วันนี้ทำอย่างไรให้สามารถส่งเสริมให้ปลูกไม้โตเร็ว สามปีตัดได้ และระหว่างที่รอผลผลิตจะส่งเสริมอาชีพอะไร” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว และว่า ปัจจุบันมีการปลูกไม้เศรษฐกิจทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3 ล้านไร่ ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการขึ้นทะเบียนสวนป่าออนไลน์ที่ปลูกโดยชาวบ้าน มีลงทะเบียนแล้ว 25,000 ไร่ ทั่วประเทศ สังเกตว่าการปลูกไม้ขาย ไม่ว่าจะเป็นปลูกไม้โตช้าอย่างไม้สัก ไม้พะยุง และไม้โตเร็วอย่างกระถินณรงค์ กระถินเทพา โดยธรรมชาติถ้ามีแหล่งรับซื้อชาวบ้านปลูกขายแน่นอน เท่าที่สำรวจมีโรงงานในประเทศไม่ต่ำกว่า 2,000 โรง ที่ใช้ไม้เศรษฐกิจ
นายจงคล้าย ยังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ที่จะเพิ่มขึ้นคือการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ชีวมวล แต่ไม้ที่จะเข้าไปป้อนให้ยังมีน้อย ส่วนเรื่องข้อกังวลเรื่องพื้นที่ ต้องเรียนให้ทราบว่าอย่างต่ำๆ ต้องเป็นที่ สปก. ที่นศ.3 พื้นที่แบบนี้ถ้าชาวบ้านจะปลูกสวนป่า ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้เลย
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าเศษฐกิจที่เน้นคือการเอาป่าที่เสื่อมโทรมมาปรับปรุง ไม่ได้เอาป่าที่สมบูรณ์มาทำ ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดเราจะทำให้รูปแบบไหนจะเปลี่ยนตรงนั้น ป่าเสื่อมโทรมแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ1) ลุ่มน้ำ1,2 เข้าไปฟื้นฟูให้เป็นป่าธรรมชาติ 2)พื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 เข้าไปส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ปลูกป่า ปลูกพืชเกษตร
“ที่มีปัญหา คือมีปัญหาในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็เท่ากับไปบุกรุกที่ ปลูกแล้วตัดไม่ได้ แม้แต่ปลูกไม้สักที่เราบอกว่า ติดพ.ร.บ.ป่าไม้ ติดไม่ได้ ไม่ต้องห่วง ถ้ามาขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ตัดไปใช้ได้”
ด้านผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของไม้วันนี้ อยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท นี่คือนับตั้งแต่ยังเป็นเมล็ด แต่หากมาดูมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.1-1.2 แสนล้านบาท และอย่าลืมว่าเราก็นำเข้าไม้จากต่างประเทศอีก 6-7 หมื่นล้านบาท แค่เราสามารถทดแทนการนำเข้า และมีทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศ เราจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่
ผศ.ดร.นิคม กล่าวว่า ขณะที่ความต้องการใช้ไม้ในประเทศ (Domestic Consumption) 2 แสนล้านบาท แต่วันนี้มีไม้พระเอกอยู่สองตัวเท่านั้นคือ ยางพารา และยูคาลิปตัส ไม้สักหายไปไหนในฐานะดีเอ็นเอของประเทศ ที่ใครๆ ในยุโรปต่างรู้จักในนาม Thaitique หรือ Siamtique เราจะดึงกลับมาอย่างไร เพราะมีมูลค่าเป็นล้านล้านบาท
“เราไม่เอาสมันโมเดล เราเอาจระเข้โมเดล เพราะสมันเรายิ่งสงวนสุดท้ายสูญพันธุ์ แต่จระเข้โมเดลแม้ว่าในป่าธรรมชาติมีไม่ถึง20 ตัว แต่จระเข้ที่อยู่ในฟาร์มมี 8 แสนตัว วันหนึ่งเราก็จะรักษาที่เหลือได้” ผศ.ดร.นิคม กล่าว และว่า วันนี้ 8 กลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ไม้ เริ่มตั้งแต่ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมไม้สักส่งออก ไม้แปรรูป เป็นต้น ในอดีตปี 2548 ตัวเลขอยู่ที่ 40 ล้านตัน ปี 2559 อยู่ที่ 58 ล้านตัน และคาดว่าในอนาคตปี 2564 จะอยู่ที่ 80 ล้านตัน ปี 2569 100 ล้านตัน และปี 2579 อีก20 ปี ราว156 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท
“ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศศึกษาพบว่า ประเทศไทยหากไม่ทำเรื่องป่าเศรษฐกิจ ในที่สุดป่าอนุรักษ์ของเราก็จะไม่เหลือ เพราะในอนาคตความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เราต้องรีบตั้งธงให้ถูก”
ด้านดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงกลไกพันธบัตรป่าไม้เป็นกลไกทางการคลังที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ โดยการออกพันธบัตรเงินกู้เพื่อระดมทุนจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจการเงินเพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจที่จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยในช่วงการดำเนินงานปลูกป่า กลไกพันธบัตรจะมีกระแสรายได้จากหลายแหล่ง เช่น รายได้จากการขายไม้ รายได้บางส่วนจากรัฐจากการที่พื้นที่ป่าสามารถลดปัญหาน้ำท่วม-แล้ง รายได้จากภาคอุตสาหกรรมและพลังงงานจากการที่ป่าสามารถดูดซับคาร์บอน หรือรายได้เชิงท่องเที่ยงระบบนิเวศ เป็นต้น รายได้เหล่านี้นอกจากจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรที่ทำหน้าที่ปลูกป่าแล้ว ยังนำมาจ่ายคืนให้ประชาชนและผู้ลงทุนในพันธบัตรป่าไม้ด้วย
“จะเห็นได้ว่ากลไกพันธบัตรป่าไม้เป็นโอกาสสำคัญของประเทศในการฟื้นฟูป่าโดยการใช้ผลประโยชน์จากการปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูป่า ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน แหล่งเงิน และความต้องการใช้ไม้เชิงพาณิชย์” ดร.อดิศร์ กล่าว.