อัยการทำคดีทุจริตภาคมีแค่ 1-2 คนดูหลายร้อยสำนวน! พ้อไม่ไหว-กังขาส่วนกลางไม่ช่วย
ปูด พนง.อัยการทำคดีทุจริตประจำภาค มีแค่ 1-2 คน ทำทุกหน้าที่ รับสำนวน-ตรวจสำนวน-ส่งฟ้องคดีทุจริต 8-10 จังหวัด เฉลี่ยคนหนึ่งดูกว่า 50-100 สำนวน เตรียมรับสำนวนจำนำข้าวอีก 200-300 คดี พ้อทำงานไม่ไหว หวั่นส่งฟ้องไม่ทันต้องรับผิดชอบความเสียหาย กังขาส่วนกลางไม่ยอมส่งคนมาช่วย พูดให้ อสส. ทราบแล้วแต่ยังเงียบ
นโยบายเร่งรัดการปราบปรามการทุจริตถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทั่งมีการผลักดันให้เกิดการก่อตั้งศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้น ต่อมาช่วงเดือน เม.ย. 2560 มีการตั้งศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประจำภาคต่าง ๆ รวม 7 ภาค หลังจากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จึงตั้งสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาคต่าง ๆ รวม 7 ภาคเช่นกัน โดยแต่ละภาครับผิดชอบใน 8-10 จังหวัด เพื่อคอยประสานนำสำนวนคดีทุจริตฟ้องต่อศาล
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ภายหลังเมื่อเดือน เม.ย. 2560 ศาลอาญา เปิดแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประจำภาคต่าง ๆ สำนักงาน อสส. ได้เปิดสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตประจำภาคเช่นกัน รวม 7 ภาค เท่ากับศาล อย่างไรก็ดีปัญหาที่เจอขณะนี้คือ มีพนักงานอัยการที่ดำเนินการรับสำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงสำนวนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคดีทุจริต การตรวจสำนวน และนำส่งฟ้องศาล มีจำนวนไม่เพียงพอกับคดีทุจริตที่รับเรื่องมา โดยเกือบทุกสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตประจำภาคต่าง ๆ มีพนักงานอัยการเพียง 1-2 ราย เท่านั้น เมื่อเทียบกับสำนวนคดีทุจริตที่มีมากถึง 100-200 คดี
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้พนักงานอัยการแต่ละภาครู้สึกว่า ทำงานไม่ไหว เพราะอัยการเพียงรายเดียวต้องรับผิดชอบคดีมากถึง 50-100 คดี เวลาฟ้อง หรือเวลาศาลนัดไต่สวน หรือสืบพยาน ต้องวิ่งเข้าห้องพิจารณาคดีทุกห้องที่มีในศาล และตั้งคำถามว่า เหตุใดสำนักงาน อสส. ส่วนกลางถึงไม่กระจายกำลังคนมาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากคดีทุจริตใหม่ ๆ ที่ต้องนำส่งฟ้อง และสืบพยานแล้ว ยังมีคดีทุจริตเก่าที่เดิมฟ้องไว้ส่วนกลาง ส่งกลับคืนมาให้พนักงานอัยการคดีทุจริตประจำภาคต่าง ๆ ดำเนินการฟ้องอีก นอกจากนี้ในช่วงเดือน ก.ค. 2560 จะต้องรับสำนวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแต่ละภาคมีจำนวนมากถึง 200-300 คดี มาดำเนินการต่ออีก โดยสำนักงาน ป.ป.ท. กำชับว่าให้พนักงานอัยการแต่ละภาคส่งฟ้องต่อศาลให้ทันภายในสิ้นปีนี้ ทั้งที่แต่ละภาคมีพนักงานอัยการแค่เพียง 1-2 รายเท่านั้น
“ในเมื่อนโยบายของรัฐบาล ถือว่าการปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายสำคัญ แต่ทำไมส่วนกลาง (สำนักงาน อสส.) ถึงไม่ส่งพนักงานอัยการมาแบ่งเบาสำนวนคดีต่าง ๆ บ้าง ทำไมส่วนกลางถึงไม่ตอบสนองจำนวนคนให้เต็มที่ตามนโยบายจากรัฐบาล ถ้าให้อยู่กันแบบนี้เหมือนกับส่งมาตาย เพราะถ้าพนักงานอัยการฟ้องคดีไม่ทัน เกิดคดีขาดอายุความ กลายเป็นเรื่องใหญ่ เกิดความเสียหาย ส่วนคนที่ต้องรับผิดชอบคือพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนนั่นเอง” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา มีการประชุมพนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีทุจริตทั่วประเทศ พนักงานอัยการหลายรายได้พูดปัญหาเหล่านี้ให้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส. ทราบเรื่องแล้ว แต่กลับไม่มีการตอบสนองอะไรกลับมา ยังคงให้พนักงานอัยการ 1-2 ราย ทำคดีทุจริตต่อไป นอกจากนี้ยังเคยทำบันทึกถึงคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เพื่อร้องเรียนปัญหาเหล่านี้แล้ว แต่ไม่รู้ติดขัดปัญหาอะไร จึงไม่ได้รับการแก้ไข
“ตรงนี้ตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์การตั้งสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตภาค ไม่ได้ระบุว่า ต้องใช้พนักงานอัยการกี่ราย แต่เป็นดุลยพินิจของผู้บริหาร ซึ่งตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีการระบุไว้ด้วยว่า หัวหน้าส่วนราชการ ต้องจัดอัตราพนักงานให้เพียงพอกับงาน และผู้บริหารสามารถใช้อำนาจดำเนินการตรงนี้ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการทำแต่อย่างใด” แหล่งข่าว กล่าว