'แก้วสรร' ฟันธงสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสไม่ชอบ ชี้ช่องมีสิทธิ์ฟ้องศาลปกครอง
หมายเหตุ-นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะกรรมการธรรมาธิภาลในองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอสได้ตอบข้อหารือของนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบายถึงกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสโดยมีความเห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1. กระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง
ตามข้อบังคับของไทยพีบีเอสกําหนดให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ “กลั่นกรอง” ผู้สมควรรับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการนโยบาย โดยกําหนดว่าต้องมีการรับสมัครและเสนอชื่อได้ไม่เกิน 5 คน
โดยข้อขังคับนี้ผู้สมัครทุกคนต้องมีสิทธิ์ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรร หาว่า ตัวเขาสมควรแก่ตําแหน่งหรือไม่ก่อน ซึ่งต้องเป็นการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ดังนั้นการที่คณะกรรมการสรรหาไปใช้วิธีโหวตให้กรรมการแต่ละคนเลือกมาสองคน แล้วเอาคะแนนที่แต่ละคนได้มารวมกัน จึงเป็นโหวต “คัดออก” หาใช่โหวตกลั่นกรองแต่อย่างใดไม่
ที่ถูกต้องนั้นคณะกรรมการสรรหาต้องตรวจสอบข้อมูลฟังวิสัยทัศน์แล้วโหวตเป็น รายบุคคลไปว่าจะรับรองผู้สมัครนั้นหรือไม่ หากผู้ใดได้คะแนนเกินเกณฑ์กําหนดเช่น กึ่ง หนึ่งขึ้นไป ก็ถือว่าผ่านการกลั่นกรองให้เสนอชื่อได้
จากนั้นถ้าใน 7 คนที่สมัครมานี้ผ่านการกลั่นกรองมาเกิน 5 คน ตรงนี้จึงจะเป็นการโหวตตัดออก เช่น ให้ทุกคนเลือกมา 5 คนแล้วเอาคะแนนมารวมกันเรียงจากลําดับที่ 1 ถึง 5 ก็จะได้ผู้สมควรแก่ตําแหน่งมาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายโดยถูกต้องในที่สุด
การกลับปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหากลับลุแก่อํานาจ ไม่กลั่นกรองคุณสมบัติผู้ใดเลย โหวตตัดผู้สมควรให้เหลือ 2 คน โดยไม่มีเหตุมีผลเลย 2 คนที่ได้นี้จะสมแก่ ตําแหน่งหรือไม่ อีก 5 คนที่ตกไปมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่ถูกวินิจฉัยให้ปรากฏเลย ถือเป็นการปฏิเสธสิทธิ์ของผู้สมัคร ที่เมื่อสมัครแล้วก็มีสิทธิ์ต้องได้รับการ พิจารณาในเนื้อผ้าคือคุณสมบัติของเขาย่อม “เสียหาย” มีสิทธิ์ฟ้องร้องโต้แย้งให้ศาลปกครองตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันก็กํ้าเกินอํานาจของคณะกรรมการนโยบาย ไปตัดบุคคลที่เสนอตัวออกไปจากบัญชีโดยไม่มีเหตุผลใดๆ เลย
กระบวนการสรรหาเช่นนี้ไม่ถูกต้องอย่างชัดแจ้งผู้สมัคร 5 รายมีสิทธิ์นําคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนผลการคัดเลือก ผอ.ได้ทันที เพราะเป็นมติที่มาจาก กระบวนการสรรหาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนผู้ใดจะเป็นผิดทางอาญาหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ว่ามีเจตนาทุจริต มีการสมคบกันฮั้วะตําแหน่งนี้หรือไม่ เช่นช่วยกันกีดกันคนอื่นออกไปให้เหลือ 2 คน เพื่อแข่งกันเองแล้วแบ่งประโยชน์กันเองในภายหลังอีกทีหนึ่งเป็นต้น ซึ่งถ้ามีเค้ามูลชี้บ่งเช่นนี้ก็ควรที่จะส่งเรื่องให้ปปช.เพื่อไต่สวน และปฏิรูปไทยพีบีเอสทั้งระบบเลยก็จักสมควรยิ่ง
2.แนวทางปฏิบัติ
2.1) อาจารย์ควรเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาปัญหากฎหมายนี้ก่อนเลยว่า ขั้นตอนการสรรหาที่ทํามาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องแล้วเรายังขืนมีมติคัดเลือก ไปบนข้อเสนอที่ไม่ถูกต้องอย่างนี้ ผู้สมัครเขาย่อมมีสิทธิ์ฟ้องศาลปกครองให้ตรวจสอบ และเพิกถอนมติของเราได้ คดีป.ป.ช.ก็ตามมาได้อีก การเมืองก็สาวรอยมารื้อเราอีก เสนออย่างนี้ให้เขาพิจารณากันดีๆว่า กระบวนการสรรหามันถูกต้องไหม
2.2) อาจารย์ควรบอกไปแต่แรกเลยว่า นี่เป็นปัญหาความถูกต้องจะใช้เสียงข้างมากมายุติไม่ได้ ถ้าที่ประชุมไม่แยแสสนใจเดินหน้าโหวตไปตามอําเภอใจ อาจารย์ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่โหวตโดยไม่อยู่ในที่ประชุมได้ และชี้แจงต่อสาธารณะได้ด้วย
2.3) หากที่ประชุมให้กลับไปกลั่นกรองใหม่ให้ถูกต้อง อาจารย์ควรให้มีมติฝากคณะกรรมการสรรหาให้ตรวจสอบประวัติผู้สมัครประกอบมาด้วย ทั้งโดยการสอบถามหน่วยงานและเปิดรับข้อมูลสาธารณะที่ชี้ช่องมาอย่างสมเหตุผล แล้วให้คณะกรรมการสรรหารับหน้าที่ตรวจสอบรับฟังคําชี้แจงของเจ้าตัวรวมเสนอมายังคณะกรรมการนโยบาย หากกรรมการใดมีข้อมูลก็ให้เสนอตรงไปยังคณะกรรมการสรรหาได้อีกทางหนึ่งด้วย
2.4) ท้ายสุดนั้น คณะกรรมการสรรหาควรต้องทําหน้าที่ให้เหตุผลประกอบมา ด้วยว่าแต่ละคนที่เสนอมานั้นมีข้อมูลที่พึงพิจารณาอย่างไรบ้าง ไม่ใช่โหวตส่งมาเฉย โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ เลย
3.ข้อสรุป
อาจารย์ต้องทําให้เขาเข้าใจให้ได้ว่านี่ไม่ใช่การล้มกระดาน แต่เป็นการกู้กระดาน ที่ล้มไปแล้วให้กลับมามั่นคงแข็งแรงเป็นการมีมติให้กลับไปเริ่มกลั่นกรองใหม่ไม่ใช่รับสมัครใหม่ และทําอะไรให้มันสมเหตุผลมากขึ้น ส่วนระยะเวลา 120 วันที่กําหนดให้มีผอ.ใหม่นั้น ในทางวิชาการเป็นแค่เวลาเร่งรัดเท่านั้น เกินเลยออกไปก็ทําได้แต่ต้องมีเหตุผลที่ถูกต้องมาอธิบาย ซึ่งกรณีนี้ผมยืนยันว่ามีเหตุผลชัดเจนยิ่ง
อ่านประกอบ :
กนย.เลือก 'วิลาสินี อดุลยานนท์'เป็น ผอ.ไทยพีบีเอสเสียง5:2
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากทีนิวส์