ความหวังอีกครั้งกับการปฏิรูปตำรวจ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ คือการมี “ทัศนคติต่อการปฏิรูปที่ต่างกัน” ของผู้เกี่ยวข้องและคนในสังคม โดยฝ่ายตำรวจมักบอกว่า อย่าคาดหวังกับตำรวจเกินความเป็นจริง ทั้งที่ไม่เข้าใจปัญหา ภาระกิจ ความกดดันและข้อจำกัดที่พวกเขาเผชิญอยู่ โดยยืนยันว่าทุกคนรักองค์กรและต้องการทำดีเพื่อส่วนรวม แต่มองว่ามีคนที่ไม่เข้าใจมุ่งคิดที่จะทำลายสถาบันตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม
ประเทศไทยเคยตั้งคณะบุคคลให้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นทางการมาแล้วอย่างน้อย 2 คณะ คณะแรกแต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 มี พลตำรวจเอกวศิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน คณะที่สอง เป็นกรรมาธิการวิสามัญใน สปช. ในปี พ.ศ. 2559 ดังนั้น “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)” ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นคณะที่ 3 โดยทั้ง 36 คนที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้ามานี้ ไม่มีใครที่เคยมีส่วนร่วมในการศึกษาเรื่องนี้ในทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาเลย
การทำงานของทั้ง 2 คณะได้ใช้เวลาอยู่พอสมควรและมีรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ชัดเจนเสนอต่อรัฐบาลและสภาฯ รวมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย ซึ่งพบว่าข้อมูลการศึกษาของคณะแรกนั้นมีกระบวนการที่ดี มีการศึกษารวบรวมข้อมูลของนักวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงเปิดรับฟังความเห็นทั้งจากประชาชนและตำรวจอย่างทั่วถึงผลที่ได้จึงมีความสมบูรณ์ น่าสนใจและมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์มาก ส่วนรายงานการศึกษาของ สปช. นั้นเนื่องจากมีการเผยแพร่เอกสารเป็นสองชุดที่มีข้อเสนอต่างกันจึงอาจสร้างความสับสนได้
ผู้เขียนเห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ คือการมี “ทัศนคติต่อการปฏิรูปที่ต่างกัน” ของผู้เกี่ยวข้องและคนในสังคม โดยฝ่ายตำรวจมักบอกว่า อย่าคาดหวังกับตำรวจเกินความเป็นจริง ทั้งที่ไม่เข้าใจปัญหา ภาระกิจ ความกดดันและข้อจำกัดที่พวกเขาเผชิญอยู่ โดยยืนยันว่าทุกคนรักองค์กรและต้องการทำดีเพื่อส่วนรวม แต่มองว่ามีคนที่ไม่เข้าใจมุ่งคิดที่จะทำลายสถาบันตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่หลายคนมองว่า “ตำรวจ มุ่งแต่รักษาอำนาจ ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของตน” เห็นได้จากข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาในหมู่ตำรวจด้วยกันเอง มีการใช้อำนาจข่มขู่ดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นต่าง แต่ที่น่ากังวลใจกว่าคือ การที่ปรากฎภาพข่าวของคนที่พร้อมจะโต้เถียงจ้องจับผิดตำรวจว่าใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ประพฤติไม่เหมาะสม มีการตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรงจนถึงเรียกร้องให้มีการควบคุมพฤติกรรมและจำกัดอำนาจตำรวจ ภาพเหล่านี้สะท้อนกระแสสังคมถึงความไม่ชอบ ไม่เข้าใจหรือบางกรณีอาจถึงขั้นชิงชังต่อพฤติกรรมที่ฉ้อฉล
ดังนั้นเพื่อให้การปฏิรูปครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบจากทุกฝ่าย จึงควรหาทางเร่งสื่อสารกับตำรวจและประชาชนให้เข้าใจตรงกันว่า การปฏิรูปครั้งนี้ “จะเกิดประโยชน์กับตำรวจและประชาชนอย่างไร” ซึ่งคงต้องอธิบายให้ได้ว่า ปฏิรูปแล้วประชาชนจะได้อะไร ตำรวจจะได้อะไรและกระบวนการยุติธรรมของไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นอย่างไร
ส่วนประเด็นว่าจะปฏิรูปอย่างไรนั้นผู้เขียนเสนอว่า เพื่อความรวดเร็วควรนำผลการศึกษาของทั้ง 2 คณะที่กล่าวถึงข้างต้นมาเป็นแนวทาง โดยทำการศึกษาเพิ่มเติมในบางประเด็น เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและตำรวจรอบใหม่ แล้วหาข้อตกลงว่าจะทำการปฏิรูปในประเด็นอะไร อย่างไร เมื่อใด
การที่บ้านเมืองของเราจะสงบสุขน่าอยู่ได้จำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพ มีสถาบันตำรวจที่พึ่งพาได้ ในขณะที่ตำรวจต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจอย่างเหมาะสมเป็นธรรม และตัวตำรวจเองก็ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่มีความก้าวหน้ามั่นคงในวิชาชีพได้อย่างมีเกียรติ
แม้จะมีไม่กี่ประเทศที่พัฒนาตำรวจจนสำเร็จตามความคาดหวังของประชาชน แต่ยังมีหลายประเทศที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถทำให้ตำรวจเป็นที่พึ่งเป็นที่รักของประชาชนได้ ขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ประสบความสำเร็จ มีผลงานที่เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริงครับ