แรงงานหญิง เตรียมบุกทำเนียบฯ ร้องผ่านวันสตรีสากล เยียวยาลอยแพน้ำท่วม
แรงงานหญิง เตรียมบุกทำเนียบฯ ขอของขวัญวันสตรีสากล 8 มี.ค. ให้มีพื้นที่เลี้ยงเด็กในโรงงาน-มีส่วนร่วมในกองทุนสตรี-เยียวยาผลกระทบน้ำท่วมน้ำท่วม ถูกนายจ้างลอยแพ-หนี้สินเพียบ
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ชีวิตแรงงานหญิง หลังเผชิญวิกฤตมหาอุทกภัย” โดย น.ส.มณี ขุนภักดี ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปีถือเป็นวันสตรีสากลที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคม แต่ยังมีผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม และผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ซ้ำเติมแรงงานหญิงต้องถูกเลิกจ้าง ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อครอบครัว
ทั้งนี้จากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ลงพื้นที่สุ่มสำรวจแรงงานหญิง 273 ราย อายุระหว่าง 36-50 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ใน จ.นนทบุรี สมุทรสาคร และปทุมธานี แรงงานหญิงที่ตอบแบบสอบถาม 93.8 % ทำงานในตำแหน่งฝ่ายผลิต ปัญหาที่พบระหว่างน้ำท่วม 65.9 % ต้องถูกน้ำท่วมที่พัก ส่วนเป็นปัญหาการจ้างงานระหว่างน้ำท่วม 57.1% บริษัทสั่งหยุดงาน รองลงมาต้องหยุดงานเองร้อยละ 22.0 เพราะน้ำท่วมที่พักหรือเส้นทางไปทำงาน ในส่วนที่บริษัทสั่งหยุดงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.4 ไม่จ่ายค่าจ้างให้ เช่นเดียวกับคนงานที่ลาหยุดงานเองที่ร้อยละ 57.9 ไม่ได้รับค่าจ้าง
“ผลกระทบหลังน้ำท่วม พบว่า 57 % ที่พัก ทรัพย์สินเสียหาย โดยส่วนใหญ่ 80.6 % วิตกกังวลกลัวตกงาน/ถูกเลิกจ้าง รองลงมา 63.7% กังวลเรื่องหนี้สิน ที่เหลือกังวลเรื่องการซ่อมแซมบ้าน กลัวรถถูกยึด ที่น่าเป็นห่วงคือสภาพหนี้สินของแรงงานหญิงต่อคนมีมากกว่า 10,000-50,000 บาท และ1 ใน 4 เป็นหนี้นอกระบบ ยังพบปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น ขาดการพูดคุย ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย”
น.ส.มณี ยังกล่าวว่ากลุ่มแรงงานหญิง ขอเรียกร้องให้ช่วยเหลือเยียวยาปัญหาน้ำท่วมว่า โดยแรงงานหญิงที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการให้มีเงินช่วยเหลือพนักงาน ฟื้นฟูบริษัทและรับกลับเข้าทำงานใหม่ รวมถึงมีการเยียวยาครอบครัว ซ่อมแซมที่พัก และเสนอให้บริษัทมีเงินกู้ยืมพิเศษปลอดดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังเรียกร้องรัฐบาลให้มีเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน ห้องเช่าตามสภาพความเสียหาย มีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคให้มีเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ มีการดูแลจัดหางานระยะสั้นและฝึกอาชีพระหว่างตกงาน/ระหว่างรอกลับเข้าทำงาน แก้ไขสิทธิประโยชน์เรื่องประกันว่างงานให้ครอบคลุมกรณีน้ำท่วม จัดหางานที่เหมาะสมให้กับผู้ตกงาน และจัดศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาโดยจัดนักวิชาชีพให้บริการอย่างทั่วถึง
ด้าน น.ส.สุรินทร์ พิมพา ผู้นำแรงงานหญิงกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาคร และนครปฐม กล่าวว่าในช่วงที่น้ำท่วมมีแรงงานหญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษามากกว่า 100 ราย เพราะประสบปัญหาการถูกนายจ้างลอยแพต้องตกงาน จนถึงตอนนี้หลายคนยังไม่มีงานทำ ไปสมัครงานตามที่ต่างๆก็ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน เนื่องจากอายุมากเกินไป รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่ได้ครอบคลุมให้สิทธิในการช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ ดังนั้นภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นของขวัญวันสตรีสากลนี้
ทั้งนี้ในวันสตรีสากล 8 มี.ค.นี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จะร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิง จากสหภาพแรงงานเครือข่าย ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ เริ่มจากองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอประเด็นแก้ปัญหาผลกระทบต่อชีวิตของกลุ่มแรงงานหญิง โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 3 เรื่อง
1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายให้มีพื้นที่เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ 2.มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน 3.มีมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี .
ที่มาภาพ : http://bit.ly/yNhdC4